Digital Blog - Ourgreenfish

นิตยสารปิดตัว ระนาว สถานการณ์ย่ำแย่เพราะ Digital Disruption

เขียนโดย ธนาคาร เลิศสุดวิชัย - 13 ธ.ค. 2017, 7:55:32

นิตยสารปิดตัว นับว่ามีข่าวมาเรื่อยๆ จนกระทั่งล่าสุด มีข่าวว่านิตยสารคู่สร้างคู่สมจะปิดตัวลง ซึ่งผู้บริหารอย่าง คุณดำรง พุฒตาล จะชี้แจง ในวันที่ 16 ธันวาคม 2560 เกี่ยวกับนิตยสารคู่สร้างคู่สม ผ่านรายการ มองรอบด้าน ถ้าหากว่าข่าวนี้เป็นจริงนับว่าเป็นข่าวช็อกวงการนิตยสารอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว มีข่าวยืนยันแล้วว่า นิตยสารคู่สร้างคู่สมจะลาแผง ปิดตัวลง ด้วยฉบับวันที่ 21-31 ธันวาคม 2560 นี้ นับว่าใจหายไม่น้อย

ลองมองย้อนดูว่า นิตยสารที่ทยอยปิดตัวลงไป ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมานี้ นับว่ามีหลายหัวอยู่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็น Filmax, พลอยแกมเพชร, I Like, สกุลไทย, ครัว ซึ่งต่างยุติการวางจำหน่ายในช่วงที่ไล่เลี่ยกัน

Digital Disruption มีผลกระทบกว่าที่คิด ทำให้ นิตยสารปิดตัว

Digital Disruption คือภาวะที่เทคโนโลยีมีบทบาทเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมา และธุรกิจใหม่เหล่านี้ได้ออกผลิตภัณฑ์สินค้า และบริการที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน ทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจเดิม จนทำให้เกิดการ “หยุดชะงัก” ในธุรกิจเก่าๆ ที่ไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับโลกดิจิทัล ก็ล้มหายตายจากกันไป

โดยเฉพาะธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ จากที่สมัยก่อนการอ่านนิตยสารทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ เข้ามา แต่จากการเข้ามาของ 3 สิ่งประกอบกัน คือ 1. เว็บไซต์ 2. Facebook 3. สมาร์ทโฟน ประกอบกันกลายเป็นสื่อออนไลน์ทำให้ทุกคนก็สามารถเป็นสื่อได้ อ่านคอนเทนต์ที่ตัวเองสนใจได้จากมือถือของตัวเอง ไม่ต้องเสียเงินเพื่อซื้อนิตยสารอีกต่อไป จุดจบของนิตยสารเริ่มคืบคลานเข้ามาอย่างช้าๆ

สื่อออนไลน์ เลือกได้ เร็วกว่า ไม่เสียค่าใช้จ่าย ทุกคนคือสื่อ คือจุดที่เหนือกว่านิตยสาร

สื่อออนไลน์มีจุดเด่นที่นิตยสารสู้ได้ยากอย่างเช่น

  • เลือก Content ที่จะเสพได้
    ในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารมามากมาย แต่มีเวลาจำกัด การคัดเลือกเพื่อเสพคอนเทนต์ บนโลกออนไลน์ทำได้ง่ายเพียงแค่ค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดที่คุณต้องการ แต่กลับกับเมื่อคุณซื้อนิตยสารมา 1 เล่ม บางคนก็ไม่ได้อ่านคอนเทนต์ทั้งหมดในเล่มนั้น บางคอลัมน์อาจไม่ได้น่าสนใจจนที่เราอยากจะอ่านจริงๆ
  • ข้อมูลข่าวสารรวดเร็วกว่า
    ตามธรรมชาติแล้วสื่อออนไลน์มีความรวดเร็ว เพราะทุกคนเข้าถึงได้ง่าย เผยแพร่แล้วกดแชร์ได้ในทันที ติดตามข่าวสาร แต่กลับกันกับนิตยสาร กว่าจะผ่านกองบรรณาธิการ กว่าจะตีพิมพ์ กว่าจะจำหน่าย ข่าวที่ลงก็อาจกลายเป็นข่าวเก่าเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า ความถูกต้องของนิตยสารก็มีมากกว่าเช่นกัน เพราะตรวจสอบหลายขั้นตอนนั่นเอง
  • ไม่เสียค่าใช้จ่าย
    การอ่านนิตยสาร หรืออ่านผ่านสื่อออนไลน์สิ่งที่ต้องเจอเหมือนกันคือ โฆษณา แต่สิ่งที่ต่างกันคือนิตยสารคือสิ่งที่เราจ่ายเงินซื้อมา แต่บนสื่อออนไลน์นั้นไม่ต้องเสียเงิน (ในความเป็นจริงแล้วก็ไม่ฟรีไปเสียทีเดียว เพราะข้อมูลส่วนตัวของเราจะถูกนำไปใช้ เพื่อการตลาด ให้เห็นโฆษณาที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย) นิตยสารจึงเหมือนการที่เราต้องเสียเงินซ้ำซ้อนเพื่อให้ได้อ่านคอนเทนต์ที่ยังมีโฆษณานั่นเอง
  • ทุกคนคือสื่อ
    ในนิตยสารอยากอ่านความคิดเห็นของคนอ่าน เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ อยากรู้ผลตอบรับว่าบทความ หรือข่าวที่เขียนไปได้รับความนิยมแค่ไหน ก็ทำได้ยาก ผิดกับสื่อออนไลน์หรือ Social Media ที่ให้อิสระกับทุกคน สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ หรือจะตั้งตนเป็นสื่อเองก็ย่อมได้

นิตยสารปรับตัวแล้ว แต่ก็ยังคงไม่ทัน

หลายนิตยสารก็เริ่มปรับตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น เริ่มสร้างเว็บไซต์ หรือมีแอคเคานท์ใน Social Media แต่โดยมากแล้วเป็นแค่ช่องทางประชาสัมพันธ์เพื่อขายนิตยสารเท่านั้น แต่ไม่มีคอนเทนต์ดีๆ ลงเว็บไซต์เลย หรือวิธีการเขียนบทความก็ยังคงติดกับงานเขียนแบบเดิมๆ ตามที่เขียนในนิตยสาร ไม่มีการใช้คีย์เวิร์ด หรือ SEO เพื่อให้ติดอันดับการค้นหา จึงทำให้ปรับตัวไม่ทัน ไม่มียอดทราฟิกเข้าเว็บไซต์ พลิกโมเดลการหารายได้ไม่สำเร็จ

เนื่องจากตัวผู้เขียนเคยทำงานกับนิตยสารอยู่ช่วงหนึ่ง รายได้หลักของนิตยสารมีอยู่สองส่วนด้วยกันคือ โฆษณา และกำไรจากการขายนิตยสาร กำไรส่วนมากจะมาจากโฆษณา ในยุคหนึ่งการลงโฆษณากับนิตยสาร โดยเฉพาะหน้าปก เรียกว่าต้องจองกันข้ามเดือนเลยทีเดียว เพราะโฆษณาแน่นมาก แต่เมื่อมีสื่อออนไลน์ ยอดขายก็ลดลง คู่ค้าที่จะลงโฆษณาก็หันความสนใจไปลงสื่อออนไลน์ จนทำให้กำไรจากทั้งสองด้านหดหายไปเป็นจำนวนมาก จนถึงขั้นขาดทุน

หนังสือเป็นเล่ม ยังคงอยู่ได้

สำหรับหนังสือที่เป็นเล่ม ไม่ว่าจะเป็น Fiction หรือ Non-Fiction ก็ยังคงขายได้ ถึงแม้ว่าเกิด Digital Disruption มี E-Book เข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไปบ้าง  เนื่องจากปริมาณคอนเทนต์ที่มาก ไม่สามารถอ่านได้แบบต่อเนื่องบนสมาร์ทโฟน ถ้าอยากอ่านแบบสบายตาต้องมีอุปกรณ์สำหรับอ่าน E-Book โดยเฉพาะ จึงยังไม่แพร่หลาย ดังนั้นแล้วหนังสือที่เป็นเล่มจะยังอยู่ ไม่หายไปแบบนิตยสาร

ร้านหนังสือ ยกเครื่องใหม่ แค่ขายหนังสือ ยังไม่พอ

ร้านหนังสือที่เมื่อก่อนมีรายได้หลักจากหนังสือและนิตยสาร ก็ต้องปรับตัวกันยกใหญ่ ถ้าได้ลองเข้าไปในร้านหนังสือใหญ่ๆ เกือบทั้งหมดนำสินค้าอื่นเข้ามาจำหน่ายเสริมเพิ่มเติม อย่างสินค้าแก็ดเจ็ตต่างๆ เครื่องเขียน รวมไปถึงสินค้าอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงว่ารายได้จากนิตยสารและหนังสือเอง ไม่เป็นไปตามเป้า

ถึงแม้ว่า Digital Disruption เข้ามามีผลต่อการทำธุรกิจต่างๆ อยู่ไม่น้อย เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ไม่เพียงแต่ธุรกิจด้านสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด ทุกธุรกิจต้องรู้จักปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยีที่เข้ามา ถ้าไม่เช่นนั้นอาจสายเกินไปก็เป็นได้

Digital Disruption คืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับการทำธุรกิจ

สามารถติดตามข่าวสารจาก Ourgreenfish ได้ที่ Facebook และ Twitter