ในช่วงระยะเวลาของการชุมนุมที่ผ่านมา การติดต่อสื่อสารหรือการส่งข่าวสารระหว่างการชุมนุมกันนั้น ก็ได้มีการใช้แอปพลิเคชันสื่อสารที่นิยมใช้ทั่วไปอย่าง Facebook, Twitter, Line และ Whatsapp ในการส่งข่าว แต่จะมีอีกแอปพลิเคชันนึง ที่ถูกนำมาใช้เพื่อการรับส่งข่าวสารและนัดแนะการชุมนุมกันอย่างปลอดภัย อย่าง Telegram เข้ามาใช้ โดยเฉพาะ การส่งต่อข่าวสารของกลุ่ม เยาวชนปลดแอก-Free YOUTH ที่มีข่าวออกมาว่า กำลังจะถูก Facebook สั่งให้ปิดเพจของตัวเอง ซึ่งช่องทางนี้เป็นช่องทางหลักในการส่งข่าวสารไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมของตัวเอง ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้ช่องทางของ Telegram แทน
Telegram คือ แอปพลิเคชันที่ใช้สำหรับการสื่อสาร ถูกพัฒนาตั้งแต่ปี 2013 โดยสองพี่น้องชาวรัสเซียที่ชื่อว่า Pavel Durov และ Nikolai Durov ก่อนหน้านี้ทั้งสองได้พัฒนา VKontakte หรือ VK ซึ่งเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์สำหรับการสื่อสารของผู้ประท้วงรัฐบาลรัสเซีย แต่ในภายหลังก็ถูกแทรกแซงและถูกซื้อธุรกิจไปในที่สุด แต่หลังจากนั้น พวกเขาก็ได้ทำการพัฒนา Telegram โดยจุดมุ่งหมายของแอปพลิเคชันนี้คือต้องการพัฒนาแอปพลิเคชันที่รัฐบาลของรัสเซียไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้อีกต่อไป พร้อมทั้งยังเป็นแอปพลิเคชันที่เปิดให้ใช้ฟรี ไม่แสวงหาผลกำไร ไม่มีการโฆษณาในแอป ไม่ต้องจ่ายค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้น
แอปพลิเคชัน Telegram มีจุดเด่นอยู่ที่ก่อนการใช้งานจำเป็นต้องมีการเข้ารหัสข้อมูล และเก็บข้อมูลไว้ในระบบคลาวด์ สามารถล็อกอินในหลายอุปกรณ์ได้พร้อม ๆ กัน รับส่งไฟล์ได้หลายรูปแบบ พร้อมทั้งยังสามารถสร้างกลุ่มแชทที่รวมคนได้มากถึง 200,000 คน สร้างแชนแนลและบรอดคาสต์ไป ยิ่งถ้าหากต้องการสร้างกลุ่มที่เป็นส่วนตัว ก็มีฟีเจอร์ Secret Chats ที่จะมีการเข้ารหัสแบบ End-To-End ก็จะมีแค่คนที่สนทนาร่วมกันเท่านั้น ที่จะเห็นข้อมูลการแชท นอกจากนี้ยังสามารถล้างข้อความที่สนทนาออกไปได้ตามเวลาที่ตั้งไว้ด้วย
นอกจากนี้ ตั้งแต่แอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนาและเปิดตัวมานั้น ถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการชุมนุมทางการเมืองและต่อต้านรัฐบาลในหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ฮ่องกง เบลารุส และล่าสุดคือประเทศไทยนั่นเอง
อย่างที่ได้กล่าวไว้ด้านบนว่า ประเทศไทยได้มีการนำ Telegram เข้ามาใช้กับสถานการณ์ชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ การส่งต่อข่าวสาร ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ระหว่างการชุมนุม พร้อมทั้งการนัดแนะการชุมนุมในแต่ละวัน เนื่องจากทางกลุ่ม เยาวชนปลดแอก-Free YOUTH เล็งเห็นว่าแอปพลิเคชันนี้ สามารถนำมาใช้ในการส่งต่อข่าวสารได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากมีความเป็นส่วนตัว และได้รับการยืนยันว่าปลอดภัยจากการถูกแฮ็กแน่นอน
ซึ่งหลังจากที่มีการเพิ่มช่องทาง Telegram และประกาศให้เข้าไปใช้งานในวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา จนในตอนนี้มีผู้สนใจและเข้าร่วมมากกว่า 110,000 รายแล้ว ซึ่งการใช้งานมีดังนี้
ช่องโหว่ที่ทำหลายคนอาจให้ผู้ใช้งานเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ตั้งใจได้ นั่นก็คือ การจับคู่เบอร์โทรศัพท์กับชื่อผู้ใช้งาน ก็คือเพียงแค่อยากหาชื่อผู้ใช้งานก็เพียงค้นหาด้วยเบอร์โทรศัพท์ก็จะเจอผู้ใช้งานท่านนั้นทันที ซึ่งทางแก้ของปัญหานี้ สามารถเข้าไปตั้งค่าได้ที่ Settings → Privacy and Security → Phone Number เพียงเท่านี้ก็สามารถปิดไม่ให้ค้นหาเบอร์จากแอปพลิเคชันได้
หลังจากนี้ แอปพลิเคชัน Telegram ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชุมนุมเป็นอย่างมาก สำหรับการประท้วงทางการเมืองต่าง ๆ และผู้พัฒนาก็รับรู้ถึงการนำไปใช้งานเหล่านี้ด้วย ทำให้มีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อมารองรับการนำไปใช้งานเหล่านี้