การรับมือกับวิกฤตโควิด-19 เป็นสิ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญหน้าและต้องฝ่าฟันไปให้ได้ แล้วถ้าหากวิกฤตนี้จบลง การเกิดขึ้นของ New Normal ก็คงอยู่ไม่ไกลนัก
การเรียนรู้จากอดีตสู่ New Normal โลกใหม่ใบเดิมที่แตกต่างออกไป ด้วยความปกติรูปแบบใหม่ที่เป็นหลักในการวางแผนอนาคตสำหรับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่จะต้องเล็งถึงความสำคัญของ “มนุษย์” เป็นหลัก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจถึงหัวใจสำคัญของการพัฒนาธุรกิจบนพื้นฐานของ New Normal ก่อนเป็นอันดับแรก
พฤติกรรมผู้บริโภค คือสิ่งสำคัญ
พฤติกรรมผู้บริโภค คือสิ่งสำคัญที่เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นสำหรับภาคธุรกิจที่จะต้องหาแนวทางเพื่อเตรียมรับมือโดยเฉพาะ เนื่องจากผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะเลือกมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านคุณภาพ (Quality) กล่าวคือ สินค้าหรือบริการที่ผลิตออกมาจะต้องมีคุณภาพหรือรายละเอียดตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในระดับที่น่าพึงพอใจและตอบโจทย์อย่างครบครันมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลือกอื่น ๆ หากสินค้าหรือบริการของเราไม่ได้มาตรฐานมากพอก็จะทำให้ผู้บริโภคหันไปเลือกใช้บริการเจ้าอื่น หรือเลือกสิ่งที่อื่นที่ทดแทนกันได้
การมองเห็นถึงโอกาส และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
โอกาสมักมาพร้อมกับการเรียนรู้และลงมือที่จะปรับเปลี่ยน ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจใช้ช่วงเวลานี้ในการริเริ่มที่จะทำการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เสริมสร้างการจัดการให้ดีขึ้น ซึ่งการทำงานโดยการมองหาโอกาสและความเป็นได้อยู่ตลอดเวลานั้นจะช่วยให้มองเห็นอะไรได้มากขึ้นว่าการดำเนินงานรูปแบบใดที่สามารถทำได้ นอกจากวิธีการแบบเดิม ๆ แล้ววิธีการใดที่ประหยัดเวลากว่าหรือได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
แล้วในยุค New Normal นั้น จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างการเกิด Deglobalization ยุคที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศถอยหลังหรือไม่ ?
หลังจากที่มีกระแสข่าวสงครามการค้าระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสหรัฐอเมริกามาสักพัก จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของโลก ก็ทำให้นักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจและสังคมมองว่าเศรษฐกิจโลกจะเกิด Deglobalization มีการจำกัดวงการค้า มีการกีดกันทางการค้าด้วยการตั้งกำแพงภาษีให้สูงขึ้น ความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ลดลง เนื่องจากเกรงใจประเทศมหาอำนาจทั้งสองประเทศ
ยุค Deglobalization เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และต้องหันมาให้ความสำคัญภายในประเทศก่อน เห็นได้ชัดเลยจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีการปิดประเทศ ปิดโรงงานผลิตต่าง ๆ ทำให้ธุรกิจบางประเภทไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการคนในประเทศได้ เนื่องจากที่ผ่านมาจำเป็นต้องอาศัยวัตถุดิบหรือต้นทุนบางอย่างจากประเทศอื่น พอเกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้นก็อาจทำให้วงการธุรกิจและอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ เริ่มตระหนักถึงความสำคัญในข้อนี้ แล้วหันมาลดหรือกระจายความเสี่ยงด้วยการหันมาลงทุนภายประเทศมากยิ่งขึ้น ลดการลงทุนหรือติดต่อการค้าขายกับต่างประเทศไปบ้างไม่มากก็น้อย อีกทั้งยังเพิ่มการติดต่อสื่อสารกับบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น ถือได้ว่าปรับลดค่าใช้จ่ายที่มีแนวโน้มเป็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไม่คุ้มค่ากับการลงทุนออกไปแล้วนำมาลงทุนในส่วนนี้แทน ซึ่งหลังจากนี้ก็ยังคงต้องรอดูสัญญาณครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ ตามทิศทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยเหตุผลเช่นนี้แล้วนั้นจึงส่งผลถึงการกลับมาอย่างเต็มรูปแบบของ Digital Transformation
Digital Transformation ที่หลายคนเคยได้ยินกำลังจะกลับมาอย่างเต็มรูปแบบเมื่อเข้าสู่ยุค New Normal
หลาย ๆ บริษัทหรือหลาย ๆ องค์กรคงเคยได้ยินกันมาสักพักแล้วสำหรับสิ่งนี้ และคงเคยได้ริเริ่มเข้าสู่ Digital Transformation กันมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งในยุค New Normal นี่แหละที่ Digital Transformation จะเข้ามามีส่วนมากยิ่งขึ้น และทำให้บุคลากรต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบการทำงานให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
การดำเนินธุรกิจให้เท่าทันและควบคู่ไปกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่น่าจับตามองมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในยุคที่มีการแข่งขันสูง Digital transformation คือส่วนสำคัญในการสร้างศักยภาพ ซึ่งจะต้องเริ่มจากบุคลากรภายในองค์รก่อนเป็นอันดับแรก รวมถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่จะต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญและพร้อมที่จะนำสิ่งนี้เข้ามาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล แล้วนำไปวางแผนกลยุทธ์เพื่อนำไปต่อยอดด้วยการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาใช้เป็นหลัก ด้วยการทำให้ทุกกระบวนการทำงานขององค์กรอยู่ในรูปแบบของดิจิทัลที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามการนำไปใช้งาน ที่สำคัญเลยควรมีเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้มีศักยภาพมากพอที่จะแข่งขันกับองค์กรอื่น ๆ ได้