เว็บไซต์ในปัจจุบันนี้ กลายเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับธุรกิจที่ต้องการทำออนไลน์ไปซะแล้ว เพราะการซื้อขายผ่านทางออนไลน์หรือการเสิร์ฟคอนเทนต์ดี ๆ ผ่านช่องทางเว็บไซต์นั้นทำได้ง่ายและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่าเดิมมาก ปกติแล้ว บริษัทที่ อยากทำเว็บไซต์ มักจะมาด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น ไม่เคยมีเว็บไซต์เลยแต่อยากเริ่มทำ, มีเว็บไซต์แล้วแต่อยากปรับปรุงเพิ่ม เป็นต้น แต่ก็ยังเหมือนกันตรงที่ ไม่รู้ว่าถ้าจะส่งงานต่อให้ Web Developer จำเป็นต้องเตรียมข้อมูลอะไรไปให้บ้าง บทความนี้ จะมาบอกถึงข้อมูลที่จำเป็นก่อนส่งมอบงานให้ Web Developer กัน
Reference ของเว็บที่อยากได้
เว็บไซต์แต่ละเว็บต่างมีรูปแบบของดีไซน์และการทำงานนั้นอยู่ในรูปแบบคล้าย ๆ กัน เพียงปรับใช้ให้เข้ากับบริษัทหรือธุรกิจของตัวเอง คุณสามารถหา Reference จากเว็บไซต์อื่น ๆ มาเพื่อบอก Web Designer หรือ Web Developer ได้ว่าต้องการเว็บไซต์ที่มีรูปแบบและการทำงานประมาณนี้ เขาจะได้ออกแบบดีไซน์และการทำงานให้ได้ และจำนวนของหน้าเว็บไซต์ ว่าต้องมีกี่หน้า
ฟังก์ชันการทำงาน
ฟังก์ชันการทำงานบนเว็บไซต์ของแต่ละเว็บไซต์ จะแตกต่างกันไปตามความต้องการของเจ้าของเว็บไซต์ ก่อนจะส่งงานให้แก่ Web Developer ควรลิสต์มาก่อนว่าต้องการให้เว็บไซต์มีฟังก์ชันการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง เช่น สมัครสมาชิก, เข้าสู่ระบบ, ตะกร้าสินค้า, ชำระเงิน, สะสมแต้ม เป็นต้น โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่เป็นรูปแบบของ E-Commmerce ที่ต้องมีฟังก์ชันการทำงานมากกว่าเว็บไซต์ที่เป็นแบบ Knowledge ทั่วไป
ข้อมูลทั้งหมดที่ใส่เข้าเว็บไซต์
โดยปกติแล้ว เจ้าของเว็บไซต์จำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลที่ต้องการใส่มาให้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับบริษัท ประวัติคร่าว ๆ ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ข้อมูลการติดต่อ ถ้าเป็นเว็บไซต์ที่ขายสินค้าและบริการ ควรมีรีวิวจากลูกค้ามาใส่เข้าไปด้วย
สีและธีมที่จะใช้
โทนสี เทมเพลตและธีมที่ใช้มีความสำคัญต่อภาพจำ Web Developer ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสีและธีมที่คุณต้องการใช้นั้นเป็นอย่างไร คุณควรบอกโทนสี เทมเพลตที่จะใช้ โดยโทนสีที่ใช้ แนะนำว่าให้เป็นโทนเดียวกับโลโก้ของบริษัทหรือธุรกิจ เพื่อให้รูปแบบของเว็บไซต์สอดคล้องไปในทางเดียวกันกับโลโก้ของแบรนด์ พร้อมทั้งเวลาที่ใครมาเห็นก็จะรู้ทันทีว่านี่คือเว็บไซต์ของบริษัทคุณ แม้พวกเขาเหล่านั้นจะไม่เห็นโลโก้ของบริษัทปรากฏในหน้าเว็บไซต์
รูปและโลโก้บนเว็บไซต์
รูปและโลโก้เป็นสิ่งที่ Web Developer ไม่สามารถไปหามาใส่เองได้ เนื่องจากบางธุรกิจจำเป็นต้องใช้รูปภาพที่มาจากบริษัทโดยตรง หรือบางทีจำเป็นต้องซื้อภาพที่มาจากเป็นเว็บไซต์สต็อกภาพ รวมถึงโลโก้ที่เป็นสิ่งที่สื่อถึงแบรนด์และเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่เว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ svg, jpg, png ก็ควรเป็นไฟล์ที่มาจากบริษัทโดยตรง เพื่อให้ไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์กันในภายหลัง
งบประมาณที่กำหนดไว้
เจ้าของทำเว็บไซต์ควรจะแจ้งกับนักพัฒนาเว็บไซต์ว่า มีงบประมาณเท่าไหร่ เพื่อที่เขาเหล่านั้นจะได้มาคำนวณว่าถ้าสโคปเว็บไซต์เท่านี้ กับงบประมาณที่มีนั้นไปด้วยกันได้ไหมหรือจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณ เพื่อที่จะสามารถสร้างเว็บไซต์ได้ตามที่ต้องการ
ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นข้อมูลสำคัญที่นักพัฒนาเว็บไซต์จำเป็นต้องใช้ เพื่อนำไปสร้างเว็บไซต์ได้ตามที่วางโปรเจกต์ไว้ เพราะถ้าไม่มีข้อมูลอะไรเลย ก็จะไม่สามารถสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาได้ ถ้าจะให้ดี ควรสร้างเป็นสไลด์หรือทำเป็นเล่มเพื่อไปคุยโดยตรงเลย