Digital Blog - Ourgreenfish

คอนเสิร์ตออนไลน์ การปรับตัวยุค New Normal ของธุรกิจดนตรี

เขียนโดย สุพัตรา อัมรานนท์ - 16 ก.ค. 2020, 3:00:00

ธุรกิจดนตรี เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยตรง หลาย ๆ คนคงสงสัยว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไร เพราะการทำเพลง ก็แค่มีเสียงประกอบ เสียงคนร้องและก็โปรแกรมสำหรับการมิกซ์เพลงเข้าด้วยกัน ก็ขายเพลงได้แล้ว ซึ่งธุรกิจดนตรีนั้นไม่ได้มีแค่การทำเพลงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการโปรโมทเพลง การจัดงานแสดง อีเว้นต์ มิตติ้ง คอนเสิร์ตในรูปแบบต่าง ๆ พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา ทำให้งานหลาย ๆ อย่างได้ถูกพักลงไป เมื่อไม่สามารถจัดงานแสดงหรือคอนเสิร์ตในสถานที่โล่งแจ้งได้ การจัด คอนเสิร์ตออนไลน์ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อไม่ให้รายได้ในส่วนนี้หายไปและศิลปินยังได้พบปะกับแฟนคลับด้วย

การปรับตัวยุค New Normal เข้าสู่การแสดง คอนเสิร์ตออนไลน์

จะเห็นได้ว่า ค่ายเพลงไม่ว่าทั้งในไทยหรือในต่างประเทศ ต่างปรับตัวให้เข้ากับยุค New Normal ที่กำลังเกิดขึ้น เริ่มมองหาช่องทางที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจของตนเอง ซึ่งช่องทางที่กำลังได้รับความนิยมในตอนนี้เลยก็คือ “คอนเสิร์ตออนไลน์”

คอนเสิร์ตออนไลน์ หลายคนอาจมองว่าไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะปกติแล้วคอนเสิร์ตส่วนใหญ่ในตอนนี้ก็มีการไลฟ์สดเพื่อให้ผู้ชมสามารถสนุกและเหมือนมีส่วนร่วมไปกับคอนเสิร์ตได้ แต่คอนเสิร์ตออนไลน์นั้นต่างกัน ในคอนเสิร์ตนั้น จะไม่มีผู้ชมในห้องส่งนั้นเลย แต่จะเป็นผู้ชมที่รับชมผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เช่น V Live, Zoom เป็นต้น ก่อนหน้านี้จะเห็นได้ว่า แอปพลิเคชัน V Live แอปพลิเคชันสัญชาติเกาหลี ที่ได้มีการจัดการแสดงและคอนเสิร์ตผ่านแพลตฟอร์มของตัวเองมาสักพัก โดยผู้ชมสามารถเข้าร่วมกับกิจกรรมนั้น ๆ ได้จากการจ่ายเงินคล้ายกับการซื้อบัตรคอนเสิร์ต แล้วผู้ชมก็จะได้รับรหัสเพื่อเข้าร่วม ราคาของบัตรนั้นก็แตกต่างกันไปอยู่ที่ค่ายเพลงจะกำหนด การจัดคอนเสิร์ตบน V Live จะมีทั้ง Effect แสงสีและเสียงดนตรีที่ทำให้คอนเสิร์ตนั้นดูน่าสนใจ 

และในประเทศไทยตอนนี้ มีหลายคอนเสิร์ตออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับอย่างดี อย่างคอนเสิร์ต “Stamp แอบดู Birthday Live” ที่มีราคาค่าบัตรใบละ 380 บาท ทั้งหมด 1,000 ใบ แต่สามารถขายบัตรได้หมดเกลี้ยง หรือแฟนมิตติ้งออนไลน์ของ แอลลี่ อชิรญา นิติพน ที่กำลังจะจัดขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์เช่นกัน ซึ่งการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์นั้นสามารถลดต้นทุนให้กับทางค่ายเพลงได้มาก โดยเฉพาะเรื่องของค่าสถานที่ จากที่ต้องไปเช่าสถานที่ใหญ่ ๆ ราคาหลายล้านก็กลายมาเป็นมาจัดในสถานที่ที่เล็กลง แต่เสียค่าซอฟต์แวร์เพียงไม่กี่บาท 

คอนเสิร์ตออนไลน์ ที่คนมองว่าง่าย แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด

แม้สถานที่จะเล็กลง แต่จะจัดการแสดงอย่างไรให้น่าสนใจ มีผู้ชมเข้าร่วมในจำนวนเยอะ ๆ และสามารถสนุกไปกับงานนั้นได้ ถ้าเป็นในฝั่งของศิลปินเกาหลีอาจทำได้ง่าย ๆ เนื่องจากฐานแฟนคลับของประเทศนั้นมีความแตกต่างจากศิลปินไทยพอสมควร แฟนคลับมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก การขายบัตรผ่านช่องทางออนไลน์จึงเป็นเรื่องง่ายเพราะแฟนคลับในต่างประเทศก็สามารถเข้าร่วมคอนเสิร์ตนั้นได้ในทันที

แต่ถ้าถามว่าคอนเสิร์ตออนไลน์จะสามารถเข้ามาแทนที่การจัดแสดงคอนเสิร์ตในรูปแบบเดิม ๆ ได้ไหม เราคิดเลยว่าไม่ วัดจากสิ่งแรกเลยคือบรรยากาศของการเข้าชมคอนเสิร์ตแบบเดิม ๆ ได้หายไป การมีส่วนร่วมในคอนเสิร์ต ฟังเสียงดนตรีสดในคอนเสิร์ตนั้นก็หายไปเช่นกัน การเข้าไปมีส่วนร่วมในคอนเสิร์ตนั้น ต่อให้ไม่ได้นั่งแถวหน้า ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดศิลปิน แต่ได้เข้าไปอยู่ในคอนเสิร์ตนั้นก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งสำหรับผู้ชมและการแสดงโชว์สด ๆ ในแต่ละรอบนั้นก็ไม่เหมือนกันอีกด้วย

ตัวอย่างคอนเสิร์ตหรืออีเว้นต์ออนไลน์

งานประกาศ BNK48 9TH Single Senbatsu General Election

งาน SUPER JUNIOR Beyond the Super Show LIVE

งาน FIRST ONLINE MUSIC FEST TOP HITS ONLINE

การปรับตัวของธุรกิจดนตรีในยุค New Normal อาจทำได้แค่เพียงชั่วคราว ไม่ตลอดไป ต่อให้ทุกอย่างย้ายเข้าไปสู่ในช่องทางออนไลน์หมดแล้ว แต่คอนเสิร์ตหรืออีเว้นต์ก็ไม่สามารถอยู่ในช่องทางออนไลน์ได้อย่างถาวร เพราะความสนุกอยู่ที่ความสดและการมีเพื่อนดูมากกว่าดูคนเดียวผ่านหน้าจอ และอีกหนึ่งอย่าง คอนเสิร์ตออนไลน์อาจทำรายได้ได้น้อยกว่าการจัดคอนเสิร์ตแบบปกติทั่วไป ดังนั้นหากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ การจัดคอนเสิร์ตและงานแสดงต่าง ๆ อาจจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้

 

ที่มา : [1], [2]

Supattra Ammaranon X Ourgreenfish