Digital Blog - Ourgreenfish

Boston dynamics กับความสามารถในการออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์

Written by OURGREENFISH TEAM | 4 ธ.ค. 2019, 3:00:00

Boston dynamics เป็นบริษัททางด้านวิศวกรรมและออกแบบหุ่นยนต์ สัญชาติอเมริกัน ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1992 โดย Marc Raibert อาจารย์ในมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon และ MIT โดยเป็นบริษัทที่แยกตัวออกมาจากห้องทดลองใน Massachusetts Institute of Technology (MIT) มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมือง Waltham รัฐ Massachusetts

Boston dyanamics กับการออกแบบหุ่นยนต์

Boston dynamics เป็นบริษัทที่ทุกคนต่างทราบเป็นอย่างดีถึงความสามารถและมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมากในการสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนไหวและหุ่นยนต์ที่จำลองการทำงานของมนุษย์ หุ่นยนต์ของบริษัทสามารถวิ่งและเคลื่อนตัวได้เหมือนสัตว์ ในพื้นที่ที่ขรุขระ ไม่เสมอกัน พื้นที่ต่างระดับ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาจาก Defence Advanced Research Projects Agency (DARPA) ซึ่งลูกค้าส่วนมากจะเป็นหน่วยงานด้านการทหารของ U.S.A

ประยุกต์ใช้งานหุ่นยนต์ และ AI กับการทำงานในชีวิตประจำวันได้อย่างไร?

ในวันที่ 13 ธันวาคม 2013 Boston dynamics ได้ถูกบริษัท Google X เข้าซื้อกิจการ ด้วยมูลค่าไม่เปิดเผย (Google X เป็นบริษัทในเครือของ Alphabet Inc.) แต่อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน 2017 Alphabet Inc. ได้ประกาศขาย Boston dynamics ให้กับ Softbank Group บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ด้วยมูลค่าที่ไม่เปิดเผยเช่นกัน และในเดือนเมษายน 2019 Boston dynamics ได้เข้าซื้อกิจการ start up Silicon Valley, Kinema systems ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาที่สร้างชื่อในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของ Boston dynamics ได้แก่

Bigdog ผลงานหุ่นยนต์ตัวแรก เป็นหุ่นยนต์เคลื่อนที่ 4 ขา มีลักษณะคล้ายสุนัขตัวโต ถูกออกแบบให้ซึมซับแรงกระแทกและมีการหมุนเวียนพลังงานมาใช้ในบางส่วนได้ด้วย ถูกสร้างขึ้นในปี 2005 ด้วยความร่วมมือจาก Foster-Miller, theJet Propulsion Laboratory และ Harvard University Concord Field Station โดยได้รับทุนวิจัยจาก DARPA เป้าหมายเพื่อใช้เป็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยทหารในการบรรทุกสิ่งของในสภาพพื้นที่ต่างๆ คุณสมบัติเด่นของ Bigdog ได้แก่

    • Bigdog เคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง
    • ปีนขึ้นในพื้นที่ที่มีความชันถึง 35 องศา
    • เคลื่อนที่ได้ในพื้นที่ขรุขระ, โคลน, หิมะ, น้ำ, เส้นทางเดินป่า
    • บรรทุกน้ำหนักได้ถึง 150 กิโลกรัม
    • มีระบบควบคุมความสมดุล เป็นต้น

Wildcat หุ่นยนต์ที่เคลื่อนที่ด้วยขาที่เร็วที่สุดในโลกด้วยความเร็ว 32 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยที่ยังคงรักษาสมดุลได้ในขณะเลี้ยว, หลบหลีก โดยใช้พลังงาน Methanol ใช้เครื่องยนต์เผาผลาญแบบ Methanol ขับเคลื่อนโดยใช้ระบบควบคุมแบบ hydraulics (ซึ่งทำให้เกิดเสียงดัง) ซึ่งพัฒนามากจากหุ่นยนต์ Cheetah ในห้องทดลองของ Boston dynamics โดย Cheetah ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 48 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่เป็นการวิ่งบนลู่วิ่งและมีการต่อสายควบคุมในห้องทดลอง แต่ Wildcat ถึงแม้จะเคลื่อนที่ได้ช้ากว่าแต่เป็นการเคลื่อนที่โดยไม่ต้องใช้สายควบคุม คุณสมบัติทางกายภาพของWildcat ได้แก่

    • ส่วนสูง 117 เซนติเมตร, น้ำหนัก 154 กิโลกรัม
    • Methanol เป็นเชื้อเพลิง
    • ระบบควบคุมแบบ Hydraulic
    • ข้อต่อ 14 จุด
    • ระบบ Terrain Scanning Laser

Atlas เปิดตัวรุ่นแรกในปี 2013 เป็นหุ่นยนต์ Humanoid คือมีลักษณะคล้ายมนุษย์ โดยจุดเด่นของ Atlas คือการเคลื่อนไหวที่ยืดหยุ่นเช่น ตีลังกาหน้า-หลัง เป็นต้น เคลื่อนที่ในทางที่ขรุขระ มีการพัฒนามือของหุ่นยนต์ให้สามารถจัดการสิ่งของในสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น หยิบ, จับ เป็นต้น เป้าหมายในอนาคตจะสร้างให้เป็นหุ่นยนต์กู้ภัยและค้นหาผู้สูญหาย ลักษณะทางกายภาพและคุณสมบัติของ Atlas ได้แก่

  • ส่วนสูง 150 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเพียง 75 กิโลกรัม
  • สามารถยกของหนักได้ 11 กิโลกรัม
  • ใช้พลังงาน แบตเตอรี่ 
  • มีข้อต่อ 28 จุด
  • ใช้ระบบ hydraulic, มีระบบ LiDAR, Stereo Vision
  • ระบบการทรงตัวควบคุมสมดุล เป็นต้น


LS3
ย่อมาจาก Legged Squad Support Systems เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถบรรทุกน้ำหนักได้ถึง 181 กิโลกรัม (ในการทดลองครั้งหนึ่งได้ทดลองให้บรรทุกน้ำหนักกว่า 500 กิโลกรัม เดินทางบนพื้นราบ) การปฏิบัติงานหนึ่งครั้งสามารถอยู่ได้นาน 24 ชั่วโมง (เดินระยะ 32 กิโลเมตร) สามารถทำงานเป็นกลุ่มได้ โดยกำหนดคนหรือตัวที่เป็นหัวหน้ากลุ่ม แล้วตัวอื่นๆ จะเดินตาม คุณสมบัติทางกายภาพของ LS3 ได้แก่

    • ส่วนสูง 170 เซนติเมตร และน้ำหนัก 590 กิโลกรัม
    • บรรทุกของหนักได้ถึง 181 กิโลกรัม
    • ใช้พลังงานจาก Gas/Diesel 
    • มีข้อต่อ 12 จุด
    • ใช้ระบบ Hydraulic และมีระบบ LiDAR , Stereo Vision เป็นต้น

Handle หุ่นยนต์เคลื่อนย้ายพัสดุสำหรับ Logistics มีความสามารถในการยก จัดเรียงกล่องในคลังสินค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2017 เคลื่อนที่ด้วยสองล้อ มาพร้อมระบบช่วยรักษาการทรงตัวเวลาที่ยกของขึ้นลง เวอร์ชันใหม่นี้จะไม่มีแขนกลสำหรับยกของ แต่เปลี่ยนมาใช้ดีไซน์คล้ายนกกระจอกเทศ โดยส่วนหัวนั้นจะเป็นตัวดูดสูญญากาศช่วยให้การเคลื่อนย้ายสิ่งของในโกดังเก็บของเร็วและคล่องตัวขึ้น คุณสมบัติทางกายภาพของ Handle ได้แก่

    • ส่วนสูง 2 เซนติเมตร และน้ำหนัก 105 กิโลกรัม
    • ยกของหนัก 15 กิโลกรัม
    • ใช้พลังงานจาก แบตเตอรี่
    • มีข้อต่อ 10 จุด
    • ใช้ระบบไฟฟ้าในการขับเคลื่อนและมีระบบ Depth Cameras

SpotMini เป็นหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นจากแนวคิดที่จะใช้ในออฟฟิศ ใช้งานในเชิงธุรกิจ และใช้ในบ้าน เป็นหุ่นยนต์ขนาดเล็กมี 4 ขาในการเคลื่อนที่ ใช้งานได้ 90 นาทีต่อการชาร์ต 1 ครั้ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าใช้ทำอะไรบ้าง SpotMimi สามารถยกถือสิ่งของ, ขึ้นลงบันได เปิดประตู เป็นต้น คุณสมบัติทางกายภาพของ SpotMini ได้แก่

    • ส่วนสูง 84 เซนติเมตร และน้ำหนัก 30 กิโลกรัม
    • ยกของหนัก 14 กิโลกรัม
    • ใช้พลังงานจาก แบตเตอรี่
    • มีข้อต่อ 17 จุด
    • ใช้ระบบไฟฟ้าในการขับเคลื่อนและมีระบบ 3D Vision System เป็นต้น

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการพัฒนาหุ่นยนต์ของบริษัท Boston dynamics ยังมีหุ่นยนต์อีกหลายประเภทที่กำลังอยู่ในการพัฒนาและมีแผนเตรียมจัดจำหน่าย รวมถึงนำไปใช้งานในปัจจุบัน เมื่อประสิทธิภาพในการทำงานของหุ่นยนต์มีมากขึ้น การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ในตอนหน้า การประยุกต์การใช้งานหุ่นยนต์ในปัจจุบันและการปรับตัวของมนุษย์ต่อหุ่นยนต์และเทคโนโลยีจะมีแนวโน้มอย่างไร โปรดติดตาม

 

ที่มา : [1], [2], [3], [4], [5]