ในปัจจุบัน หุ่นยนต์ คือ สิ่งที่คุ้นเคยสำหรับมนุษย์ ทั้งในด้านภาคอุตสาหกรรมเช่นในโรงงานต่างๆ ในชีวิตประจำวันเช่นการมีหุ่นยนต์ ทำความสะอาดบ้าน เสิร์ฟอาหาร และใช้งานอื่นๆ หรือแม้แต่ในจินตนาการเช่นในภาพยนต์หลายๆเรื่องที่เป็นที่นิยม ก็มีการกล่าวถึงหุ่นยนต์เช่น Terminator, AI, I-Robot และอีกมากมาย รวมถึงในนิยายแนววิทยาศาสตร์ (Science Fiction) หรือนิยายแนวไซไฟ ก็ได้กล่าวถึงหุ่นยนต์หลายๆเรื่อง แล้วท่านสงสัยหรือไม่ว่า “หุ่นยนต์คืออะไร”
หุ่นยนต์ คือ อะไร?
หุ่นยนต์ คือ เครื่องจักรกลหรือหุ่นที่มีเครื่องกลไกอยู่ภายใน สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์หรือทำงานแทนมนุษย์ได้ สามารถจัดลำดับการทำงานก่อนหลังได้ ระดับขั้นตอนการทำงานของหุ่นยนต์จำแนกได้ 6 ระดับ ตามเกณฑ์มาตรฐานของ สมาคมหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (Japanese Industrial Robot Association : JIRA) ได้ดังนี้
- ระดับที่ 1 กลไกที่ถูกควบคุมโดยมนุษย์ (Manual Handling Device) เป็นเครื่องจักรกลโดยต้องมีผู้ควบคุมบังคับการทำงานตลอดเวลา
- ระดับที่ 2 หุ่นยนต์ที่ทำงานตามแผนล่วงหน้าตามที่กำหนด โดยไม่สามารถปรับแผนงานได้ (Fixed Sequence Robot) หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรกลที่ถูกออกแบบให้ทำงานโดยที่มีเครื่องควบคุมแบบ Sequencer ทำหน้าที่สั่งงานเรียงตามลำดับ เช่น ถ้ามี Sequencer 5 ตัว เมื่อตัวแรกสั่งทำงานเมื่อทำงานเสร็จแล้ว ตัวที่ 2 ก็จะเริ่มทำงาน โดยทำงานเรียงตามลำดับกันไป
- ระดับที่ 3 หุ่นยนต์ที่ทำงานตามแผนล่วงหน้าที่กำหนด โดยสามารถปรับเปลี่ยนแผนงานได้ (Variable Sequence Robot) หลักการทำงานคล้ายกับระดับที่ 2 ต่างกันที่สามารถปรับเปลี่ยนวงจรได้โดยง่าย
- ระดับที่ 4 ผู้ควบคุมเป็นผู้สอนงานแก่หุ่นยนต์ หุ่นยนต์จะทำงานเล่นย้อนกลับ ตามหน่วยความจำที่บันทึกได้ (Playback Robot) ชุดคำสั่งจะถูกบันทึกในเครื่องบันทึกความจำ โดยชุดคำสั่งจะถูกเรียกใช้มาสั่งให้หุ่นยนต์ทำงานตามที่บันทึกไว้ เมื่อสอนเสร็จหุ่นยนต์ก็สามารถเลียนแบบสิ่งที่เรียนมาได้
- ระดับที่ 5 ผู้ควบคุมบันทึกข้อมูลเชิงตัวเลขการเคลื่อนที่ให้แก่หุ่นยนต์ และหุ่นยนต์สามารถทำงานได้เองโดยไม่ต้องสอน (Numerical Control Robot) หุ่นยนต์แบบนี้คำสั่งบังคับการทำงานมีลักษณะเป็นตัวเลข โดยชุดคำสั่งอยู่ในแถบหรือจานแม่เหล็กเป็นต้น
- ระดับที่ 6 หุ่นยนต์ที่มีความฉลาดสามารถเรียนรู้สภาพแวดล้อมและตัดสินใจทำงานได้ด้วยตัวเอง (Intelligence Robot) เป็นหุ่นยนต์ที่มีประสาทรับรู้ เช่นสามารถมองเห็น สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานได้ เป็นต้น
สำหรับสถาบันหุ่นยนต์แห่งสหรัฐอเมริกา (The Robotics Institute of America : RIA) จะพิจารณาแบบระดับที่ 3-6 เท่านั้นจึงจะนับว่าเป็นหุ่นยนต์ โดยการจำแนกแบ่งประเภทหุ่นยนต์มีหลายแบบ แต่จะจำแนกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะการเคลื่อนที่ ดังนี้
- หุ่นยนต์ชนิดติดตั้งอยู่กับที่ (Fixed Robot) หุ่นยนต์ประเภทนี้จะมีลักษณะเป็นแขนกล สามารถขยับและเคลื่อนที่ได้เฉพาะข้อต่อ นิยมใช้ในงานอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์, การประกอบรถยนต์ เป็นต้น
- หุ่นยนต์ชนิดเคลื่อนที่ได้ (Mobile Robot) หุ่นยนต์ประเภทนี้สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเอง โดยการใช้ล้อ ขา หรือการขับเคลื่อนแบบอื่นๆ เช่น โซเจอร์เนอร์ (Sojourner) หุ่นยนต์อุปกรณ์สำรวจดาวอังคารซึ่งมีลักษณะคล้ายรถ มีล้อ 6 ล้อ หนัก 11.5 กิโลกรัม โดยมากับยานอวกาศ Mar Pathfinder ซึ่งลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จในปี 1997 เป็นต้น
ประยุกต์ใช้งานหุ่นยนต์ และ AI กับการทำงานในชีวิตประจำวันได้อย่างไร?
การทำความเข้าใจในเรื่องของหุ่นยนต์มีรายละเอียดมากมาย ซึ่งสามารถหาความรู้ได้ตามบทความ งานวิจัยต่างๆ ในเบื้องต้นเราสามารถหาคำตอบแบบกว้างๆ ได้ว่า “หุ่นยนต์คืออะไรและมีการแบ่งประเภทแบบไหนและจะมาต่อยอดในธุรกิจแบบไหนได้บ้าง” ในบทความหน้า เราจะมาดูว่า วิวัฒนาการของหุ่นยนต์ตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันมีอะไรบ้าง โปรดติดตามตอนต่อไป
ที่มา : [2], [4]