มนุษย์ทุกคนมีกรอบความคิดเป็นของตัวเองเหมือนกันทุกคน ซึ่งกรอบความคิดส่วนบุคคลส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่เติบโตมา เช่น เด็กที่เกิดและเติบโตในเมืองก็จะมีความคิดและไลฟ์สไตล์ที่ต่างจากเด็กที่เกิดและเติบโตในชนบท เป็นต้น ถ้าพูดถึงเรื่องของการทำงานและการพัฒนาชีวิตหลายคนก็มีวิธีการเฉพาะตัวที่คิดขึ้นมาเอง แต่จะดียิ่งกว่าถ้าได้รู้หลักการคิดหรือตัวชี้นำให้เราคิดอย่างมีระบบมากขึ้น ซึ่ง Fixed Mindset และ Growth Mindset เป็นกรอบแนวคิดเชิงจิตวิทยาที่จะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น และสองแนวคิดนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร ไปเรียนรู้พร้อมกันเลยครับ
มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า "Mindset ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา" ที่เขียนโดย Carol S. Dweck ในหนังสือเล่มนี้จะเขียนถึงกรอบแนวคิด 2 แบบ ได้แก่ กรอบแนวคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) และ กรอบแนวคิดแบบพัฒนาได้ (Growth Mindset)
กรอบแนวคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset)
Fixed Mindset เป็นทัศนคติของคนที่คิดว่าเราไม่สามารถพัฒนาตนเองได้แล้ว ทางเดินชีวิตได้สิ้นสุดลงไปแล้ว หรือไม่กล้าลงมือทำเพราะกลัวว่าจะล้มเหลว
มี 3 กรณีศึกษาที่น่าสนใจที่อยากแชร์ให้เพื่อน ๆ ได้คิดตามเพื่อทบทวนความคิดของตัวเองดังนี้
- มีอยู่ครอบครัวหนึ่งพ่อแม่ของเด็กน้อยคนหนึ่งภูมิใจในตัวของลูกชายวัยสามขวบของพวกเขามาก และมักพูดให้เพื่อนบ้านฟังเกี่ยวกับความเก่งของลูกชายเป็นประจำ โดยพ่อแม่ของเด็กชายวัยสามขวบคิดว่าคงไม่มีเด็กคนไหนที่จะมีพรสรรค์สูงเท่าลูกชายของพวกเขาอีกแล้ว แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ลูกชายของพวกเขาได้ทำในสิ่งที่น่าผิดหวัง คือลูกชายของพวกเขาไม่สามารถสอบเข้าโรงเรียนอนุบาลอันดับหนึ่งได้ หลังจากนั้นพ่อแม่ก็ไม่ใยดีกับลูกชายของตน ไม่ได้รู้สึกภูมิใจเหมือนเมื่อก่อน เขาไม่ใช่เด็กน้อยจอมฉลาดอีกต่อไป และยังทำให้พ่อแม่ขายหน้า เด็กน้อยได้กลายเป็นคนที่ล้มเหลวในวัยสามขวบทันที
- ในทุก ๆ ปีช่วงประกาศผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่นักเรียนจำนวนมากจะได้รับจดหมายปฏิเสธหรือผลประกาศที่น่าผิดหวังเกี่ยวกับการสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ทำให้เด็กนักเรียนจำนวนมากที่ไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยกลายเป็นคนล้มเหลวกันทั่วประเทศ และเด็กหัวดีทั่วประเทศที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำไม่ได้ถูกมองว่าไร้ความสามารถในทันที การกระทำที่ล้มเหลว จะนำมาสู่ความคิดที่ว่า “ฉันคือคนล้มเหลว” ความคิดแบบนี้เป็นทัศนคติของคนที่มีกรอบแนวคิดแบบตายตัว หรือ Fixed Mindset
- สถานการณ์ของ COVID-19 ทำให้ผู้คนตกงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางคนถึงกลับหาทางออกไม่เจอและหมดหวังกับอาชีพที่ตนทำ ยิ่งถ้าเราตกอยู่ในกรอบแนวคิดแบบตายตัวยิ่งทำให้ชีวิตเราเจอแต่ทางตัน เพราะคนที่มีความคิดแบบ Fixed Mindset จะมองว่าตนเองไม่สามารถพัฒนาได้และหมดความมั่นใจในการลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ
กรอบแนวคิดแบบพัฒนาได้ (Growth Mindset)
Growth Mindset เป็นกรอบแนวคิดของคนที่คิดบวก คิดว่าตัวเองสามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดความมั่นใจ และกล้าลงมือทำ
มีเรื่องราวของคนหลายคนที่เราอยากแชร์ให้เป็นตัวอย่างสำหรับคนที่มีกรอบคิดแบบพัฒนาได้ หรือ Growth Mindset
- ชีวิตของชายคนหนึ่งที่ได้ทำงานในสายอาชีพที่ตนเองชอบ เกิดจากการมีเป้าหมายในอาชีพที่ชัดเจน และไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ถึงแม้จะมีคนบอกกับเขาว่าถ้าเรียนจบมาทำงานไม่ตรงสายอาชีพยังไงก็ไม่มีทางเติบโตและก้าวหน้าได้ ถ้าชายผู้นั้นฟังคำพูดของคนอื่นแล้วเดินออกจากเป้าหมายนั้นไป ชีวิตการทำงานของเขาอาจจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่เขาฝันเอาไว้ เขามุ่งหน้าศึกษาเรื่องที่ตนเองสนใจ และเขาก็ไม่ได้รู้สึกกลัวที่คนอื่นชอบมองว่าเขาดูไม่ฉลาดและไร้ความคิดจากบุคลิกภายนอก การมีกรอบแนวคิดแบบพัฒนาเหมือนชายผู้นี้จะทำให้เขามีความมั่นใจในการลงมือทำ
- หญิงสาวคนหนึ่งเรียนจบมามีเกรดเฉลี่ยที่ค่อนข้างแย่มาก ๆ แต่เธอคนนั้นก็ไม่ยอมให้ใครมาตัดสินความสามารถของเธอจากตัวเลขของเกรดเฉลี่ย ช่วงโค้งสุดท้ายของการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นช่วงที่เธอเริ่มเห็นคุณค่าของการเรียนมากขึ้น และเธอก็ได้คิดกับตัวเองว่าจะเรียนจบออกไปแบบศูนย์เปล่าไม่ได้เด็ดขาด เพราะค่าเทอมแพงและยังเสียเวลาเรียนมาตั้งหลายปี เธอจึงแอบเข้าไปนั่งเรียนวิชาที่สนใจ และย้อนกลับไปนั่งเรียนวิชาที่ตนเองไม่ได้ตั้งใจเรียน เพื่อ Re-Skill และ Upskill ตนเอง เพราะเธอมองว่าวิชาเหล่านั้นคือองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต ชีวิตของผู้หญิงคนนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่ง Growth Mindset ที่ต้องการพัฒนาตนเองให้หลุดพ้นจากเกรดเฉลี่ยอันน้อยนิดของเธอ
กรอบแนวคิดแบบตายตัว และกรอบแนวคิดแบบพัฒนาได้ สามารถเป็นหลักการคิดหรือตัวชี้นำให้คนที่เคยล้มเหลวและประสบความสำเร็จผ่านอุปสรรคในชีวิตไปได้ มีบทความในหนังสือพิมพ์ The New York Times ได้บอกว่า ความล้มเหลวจากการกระทำจะส่งผลให้คนที่ทำบางอย่างล้มเหลวกลายเป็นคนที่มีอัตลักษณ์ว่าเขาได้กลายเป็นคนที่ล้มเหลวแล้วจริง ๆ ซึ่งแนวคิดนี้จะเกิดกับคนที่มีกรอบคิดแบบตายตัว เมื่อเราได้รู้จักกรอบแนวคิดทั้งสองกรอบนี้แล้ว เพื่อน ๆ ลองนำมุมมองหรือแง่คิดในบทความนี้ไปทบทวนกรอบแนวคิดของตัวเองกันดูนะครับ
เรียนรู้ทักษะภาวะผู้นำที่บทความ: 5 ระดับ ภาวะผู้นำ ที่ทุกคนต้องเรียนรู้
No Comments