เทคนิคเลือก Keyword สำหรับบทความ จะเลือกอย่างไรดีให้ติดหน้าแรก นี่คงเป็นคำถามสำหรับคนที่เขียนบทความลงเว็บไซต์สงสัยกันมานาน ทั้งนี้ Ourgreenfish มาจะเผยเทคนิคง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ในการเลือกคีย์เวิร์ดสำหรับการเขียนบทความ ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง?
เลือกคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับสินค้าบริการทางตรงและทางอ้อม
- คีย์เวิร์ดทางตรง
เช่นการใช้ชื่อแบรนด์สินค้า ชื่อของสินค้าหรือบริการที่มีจำหน่าย เช่นคุณขายอาหารแมวยี่ห้อ เหมียวเหมียว คุณควรเลือกใช้คีย์เวิร์ดทางตรงอย่าง อาหารแมว ส่วนชื่อแบรนด์ เหมียวเหมียว ก็ควรใช้เช่นกัน
- คีย์เวิร์ดทางอ้อม
คีย์เวิร์ดทางอ้อมอาจไม่ใช่คีย์เวิร์ดชื่อแบรนด์หรือชื่อสินค้าโดยตรง แต่เป็นคีย์เวิร์ดแวดล้อมที่สามารถทำมาใช้ได้ ขึ้นอยู่กับว่าสินค้าและบริการของเราคืออะไร เช่นยกตัวอย่างจากด้านบน เมื่อคุณทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารแมว ดังนั้นบทความที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงแมวจึงมีความจำเป็น เพื่อที่จะเพิ่ม Traffic ให้กับเว็บไซต์ และยังสามารถเปลี่ยนจากคนที่เข้าเว็บไซต์เป็นคนที่ซื้อสินค้าได้ด้วย
เทคนิคเลือก Keyword แบบ Long Tail ดีกว่า Short Tail
- คีย์เวิร์ด Short Tail
คือคีย์เวิร์ดที่เป็นคำสั้น มีคนใช้มาก ซึ่งคำเหล่านี้อาจเหมาะกับการทำ SEO แบบ On Page มากกว่าการเขียนบทความ เนื่องจากเป็นคำยอดนิยม โอกาสการติดอันดับก็จะยากขึ้น รูปแบบของ Short Tail คีย์เวิร์ดเช่น กระเป๋า, ดินสอ, บัตรเครดิต, เครื่องคิดเลข, โต๊ะ ฯลฯ คำเหล่านี้จะเห็นว่าเป็นคำโดยทั่วไปที่เราใช้กันนั่นเอง
- คีย์เวิร์ดแบบ Long Tail
เป็นคีย์เวิร์ดที่ระบุความเจาะจงให้แคบ และลึกกว่าแบบ Short Tail เหมาะกับการนำคีย์เวิร์ดเหล่านี้มาทำในรูปแบบของบทความมาก เพราะคีย์เวิร์ดแบบ Long Tail สามารถติดอันดับได้ง่ายกว่า ตัวอย่างของคีย์เวิร์ด Long Tail เช่น กระเป๋านักเรียนสีดำ, ดินสอ 2B, บัตรเครดิตเงินคืน, เครื่องคิดเลขยี่ห้อ Casio, โต๊ะกินข้าวไม้สัก ฯลฯ จะเห็นได้ว่า มักมีรูปแบบการขยายคีย์เวิร์ด ด้วยคำขยายต่าง ๆ เพื่อบ่งบอกคำชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ประโยชน์ของการทำ Inbound Marketing และธุรกิจแบบไหนที่ควรทำ
ลองใช้คำไวพจน์ (คำที่มีความหมายเหมือนกัน), ฉายา หรือคำภาษาอังกฤษ
- คำไวพจน์ (คำที่มีความหมายเหมือนกัน)
คำไวพจน์ คือคำที่มีความเหมายเหมือนกัน สามารถใช้แทนกันได้ สมมติว่าคุณทำธุรกิจเกี่ยวกับคลินิกทำฟัน ต้องการทำบทความเกี่ยวกับกับฟัน ถ้าเป็นคีย์เวิร์ดง่ายๆ อย่าง “ทำฟัน” ก็มีคนใช้เยอะแล้ว อาจลองเปลี่ยนทำว่า “ทำฟัน” เป็นคำว่า “ทันตกรรม” ก็สามารถใช้แทนกันได้
- ฉายาหรือสมญานาม
การใช้ฉายาหรือสมญานาม อาจจะเป็นคนหรือสถานที่ก็ได้ สมมติถ้าเราต้องการใช้คีย์เวิร์ดชื่อคนดังอย่าง “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็อาจมีคนใช้คีย์เวิร์ดนี้เป็นจำนวนมาก ลองเปลี่ยนคีย์เวิร์ดเป็น “บิ๊กตู่” ได้เช่นกัน หรือการใช้คีย์เวิร์ดจังหวัด “พิษณุโลก” ลองใช้คีย์เวิร์ดเป็น “เมืองสองแคว” ซึ่งทั้งสองนี้ คนโดยทั่วไปรับรู้ว่าคือความหมายเดียวกัน และยังมีการค้นหาโดยใช้คีย์เวิร์ดเหล่านี้ด้วย
- คำภาษาอังกฤษ ผสมกับภาษาไทย
เชื่อไหมว่าในปัจจุบันนี้ การรับคำทับศัพท์มาใช้นับว่ารวดเร็วมาก เนื่องจากอินเทอร์เน็ตย่อโลกมาไว้ในมือ ทำให้เกิดการทับศัพท์ รวมถึงการใช้คำภาษาอังกฤษผสมกับคำไทย เช่นถ้าคุณทำธุรกิจเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมที่พัทยา คุณอาจใช้คีย์เวิร์ด “คอนโดพัทยา” เป็นตัวเลือกแรกๆ แต่คำว่า “Condo พัทยา” ก็มีคนค้นหาเหมือนกัน ดังนั้นการใช้คีย์เวิร์ดภาษาไทยผสมกับคำภาษาอังกฤษก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเช่นกัน
แต่อย่าลืมว่าการใช้คำคีย์เวิร์ดต่างๆ ต้องมีคนค้นหาเช่นกัน มิฉะนั้นการเลือก Keyword จะถือว่าสูญเปล่า และอย่าลืมว่าสุดท้ายให้เราคิดแบบที่ผู้บริโภคคิด แทนตัวเองเป็นคนค้นหา เป็นผู้บริโภคจริง ๆ จะค้นหาคำว่าอะไร เพราะจะช่วยทำให้คีย์เวิร์ดและบทความของเราสามารถติดหน้าแรกได้
Thanakarn Lertsudwichai X Ourgreenfish
ที่มารูปภาพจาก Pixabay.com
1 Comment