การแก้ไขปัญหา Skill Gap ระหว่างพนักงานรุ่นใหม่กับรุ่นเก่าได้มีการแก้ปัญหากันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยิ่งในศตวรรษที่ 21 ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญกับปัญหา Skill Gap กันให้มากขึ้น เพราะการมาของเทคโนโลยีที่มีการอัปเดตเร็วขึ้นทุกปีจะยิ่งทำให้เกิดช่องว่างทักษะระหว่างวัยกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือในการทำงาน และวิธีคิดที่ต่างกัน ส่งผลให้คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่ามีวิธีการทำงานที่ไม่เหมือนกัน หากองค์กรของเรากำลังพบกับปัญหาการทำงานไม่เข้าขากันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่และทำให้คุณภาพของงานต่ำลง ผู้บริหารต้องหาวิธีมาแก้ไขปัญหาช่องว่างทักษะระหว่างวัย เพื่อให้พนักงานทุกวัยในองค์กรทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น
การวิเคราะห์ช่องว่างของทักษะ
ด้วยมุมมองแบบ Technological Generation Gap
เทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนแต่ละวัยเปลี่ยนไป
คนที่ติดตามเทรนด์เทคโนโลยีอยู่เป็นประจำ หรือที่เรียกว่าคนประเภท Innovative มักจะปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเสมอ เราจะได้เห็นคนกลุ่มนี้นำทักษะการทำงานใหม่ ๆ เข้ามาเอื้ออำนวยต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ติดตามเทรนด์เทคโนโลยีพวกเขาก็ไม่ได้เป็นคนที่ทำงานแย่ แต่จะเกิดช่องว่างด้านทักษะเทคโนโลยีที่อาจส่งผลให้การทำงานบางขั้นตอนไม่ราบรื่นเนื่องจากพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของแต่ละคนมีความชำนาญต่างกัน
เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิตให้ยืดหยุ่นขึ้น
ในปัจจุบันเราสามารถทำงานนอกสถานที่ได้ ซึ่งเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนจากช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่บริษัทให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้านและสื่อสารกันผ่านโลกออนไลน์เป็นทางหลัก คนรุ่นใหม่จะปรับตัวได้เร็วกว่าคนรุ่นเก่า ส่วนกลุ่มคนรุ่นเก่าอาจจะยึดติดกับการทำงานในเวลา เช่น เข้างานตอนเช้าและเลิกงานตอนเย็น เพราะไม่ถนัดใช้อินเทอร์เน็ตทำงานนอกสถานที่ จึงทำให้เกิดช่องว่างทักษะระหว่างวัยกับพนักงานในองค์กร
เทคโนโลยีคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดทักษะใหม่
ยิ่งมีทักษะด้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นมามากเท่าไร พนักงานทุกคนในองค์กรยิ่งต้องปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง เมื่อพนักงานรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่มี Skill Set ที่อยู่ตรงข้ามกัน ย่อมทำให้เกิดช่องว่างของทักษะมากขึ้น สิ่งเดียวที่สามารถกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าเรียนรู้ด้วยกันได้คือวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ผู้บริหารกำหนด ว่าต้องการให้ระบบการทำงานมีเทคโนโลยีเป็นศูนย์กลางหรือไม่
ติดตามสาระน่ารู้จาก Digicup คลิก!
เมื่อเรารู้แล้วว่าเทคโนโลยีได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งกับวิธีการทำงานของเราซึ่งองค์กรจะต้องใส่ใจเรื่องนี้ให้ดี ถ้าในองค์กรของเราเป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ เรื่องการนำเครื่องมือดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับการทำงานคงจะเป็นเรื่องที่เป็นง่ายและคล่องตัว แต่ถ้าองค์กรของเรามีทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าอาจจะเกิดช่องว่างระหว่างทักษะ หรือ Skill Gap ที่เป็นอุปสรรคในการทำงานร่วมกัน ดังนั้น องค์กรต้องหาวิธีมาจัดการกับปัญหานี้ ซึ่งมี 4 วิธีมาแนะนำดังนี้
4 วิธี แก้ปัญหา Skill Gap
ระหว่างพนักงานรุ่นใหม่กับพนักงานรุ่นเก่า
องค์กรต้องใช้เทคโนโลยีเป็นศูนย์กลาง
การให้พนักงานแต่ละคนฝึกใช้เครื่องมือดิจิทัลเฉพาะแค่งานในตำแหน่งของตนเองเพียงอย่างเดียวนั้น คงไม่สามารถแก้ไขปัญหา Skill Gap ทั้งองค์กรได้ องค์กรจะต้องกำหนดนโยบายการดำเนินงานขึ้นมาใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงพนักงานทุกวัยเข้าด้วยกัน โดยพนักงานรุ่นเก่าอาจจะต้องยินยอมในการใช้เทคโนโลยีตามที่องค์กรกำหนด เพียงเปิดใจเรียนรู้ร่วมกันกับคนรุ่นใหม่แล้วปัญหาช่องวางของทักษะจะลดลง
เสวนากลุ่มและระดมความคิด
การนำพนักงานรุ่นใหม่และพนักงานรุ่นเก่ามาทำกิจกรรมเสวนากลุ่มและระดมความคิดเพื่อแก้ไขปัญหาการทำงานไม่เข้าขากันของคนทั้งสองกลุ่ม คือวิธีที่สามารถสร้างความเข้าใจระบบการทำงานร่วมกันได้ เช่น พนักงานรุ่นใหม่จะต้องสอนให้พนักงานรุ่นเก่าใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือสื่อสารขั้นพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถลดอุปสรรคที่เคยเป็นปัญหามาก่อนหน้านี้
วิเคราะห์ Skill Gap ทั้งในระดับบุคคลและในระดับทีม
การวิเคราะห์ Skill Gap นั้น แบ่งการวิเคราะห์เป็น 2 แบบ แบบแรกคือการวิเคราะห์ในระดับบุคคลเพื่อสำรวจทักษะแบบเจาะจงว่าพนักงานคนนั้นยังขาดทักษะด้านไหนบ้าง โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลที่ต้องมีการตรวจสอบให้แน่ใจว่าพนักงานคนนั้นสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้โดยที่ไม่ได้เกิดปัญหาด้านทักษะ ส่วนการวิเคราะห์ Skill Gap แบบที่สองคือการวิเคราะห์ในระดับทีมเพื่อประเมินว่าทีมงานแต่ละทีมมีศักยภาพที่อยู่ในระดับเดียวกันหรือไม่ รวมถึงการทำงานภายในทีมหรือภายในแผนกที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้านในการทำงานร่วมกัน
สร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
ความต้องการทักษะในอนาคตจะเป็นตัวแปรที่กระตุ้นให้พนักงานทุกวัยต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และการจัดกิจกรรมพัฒนาบุคลากรอยู่เป็นประจำทุกปี หรือทุกไตรมาส เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ผู้บริหารต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวของเทรนด์ทักษะในอุตสาหกรรมและต้องลงทุนกับการพัฒนาทรัพยากรภายในเพื่อให้พนักงานทุกคนทุกวัยทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในอนาคตคำว่าช่องว่างทักษะระหว่างวัยนั้นอาจจะหายไป เพราะคนรุ่นใหม่ในวันนี้ได้เติบโตมากับช่วงที่เทคโนโลยีกำลังก้าวหน้าอย่างสุดขีด ต่อให้อายุมากขึ้นจนใกล้ถึงวัยเกษียณพวกเขาก็ยังคงไม่ตกเทรนด์ เพราะคนที่เกิดมาในยุคศตวรรษที่ 21 จะถูกปลูกฝังให้มี Digital Mindset ติดตัวตั้งแต่แรก แต่ในยุคปัจจุบันยังเป็นยุคที่คนในองค์กรมีทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าที่เกิดก่อนยุคปฎิวัติเทคโนโลยี จึงทำให้เกิดช่องว่างทักษะด้านดิจิทัล (Digital Skills) ในระหว่างวัยขึ้นมา ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคการทำงานภายในองค์กร ดังนั้น องค์กรต้องสร้างแรงจูงใจให้พนักงานรู้จัก Re-skill และ Upskill ตนเองให้มีทักษะอยู่ในระดับเดียวกัน
เรียนรู้ทักษะภาวะผู้นำที่บทความ: 5 ระดับ ภาวะผู้นำ ที่ทุกคนต้องเรียนรู้
ติดตามสาระน่ารู้จาก Digicup คลิก!
No Comments