DeFi คืออะไร มีระบบที่แตกต่างจาก Commercial Bank อย่างไรบ้าง

การมาของ DeFi หรือ Decentralized Finance ทำให้โลกของการเงินแบบ Traditional Finance หรือการเงินแบบดั้งเดิมเริ่มขยับขยายหรือเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ดิจิทัลตามไปด้วย ยิ่งการลงทุนหรือการเก็งกำไรในสินทรัพย์ดิจิทัล ได้รับความสนใจกันทั่วทุกมุมโลก แม้แต่คนที่ไม่เคยสนใจเรื่องการเงินการลงทุนเลยยังหันมาสนใจกัน ก็จะยิ่งทำให้ Demand หรือความต้องการเข้าไปทำธุรกรรมบนโลก DeFi เติบโตขึ้น สำหรับคนที่พึ่งเข้ามาสนใจ DeFi ในวันนี้และก็ยังมีความสงสัยกันอยู่ว่าระบบ DeFi สร้างอยู่พื้นฐานของอะไร และมีแนวคิดมาจากอะไร มีความแตกต่างจาก Commercial Bank ทั่วไปอย่างไรบ้าง เราจะอธิบายให้ทุกคนได้เห็นภาพรวมของ DeFi แบบเข้าใจง่าย

 

การไร้ตัวกลาง

ในการทำธุรกรรมทางการเงินแบบดั้งเดิมเราจำเป็นต้องไปขอนุญาตธนาคารซึ่งเป็นตัวกลางที่ผูกขาดเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงินแทบจะทุก ๆ อย่างในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่การเปิดบัญชีการเงินส่วนตัวซึ่งก็ถูกควบคุมโดยธนาคาร การฝากเงิน การถอนเงิน การกู้เงิน เราต้องดำเนินการผ่านธนาคารทั้งหมด นั่นหมายความว่าอัตราดอกเบี้ยหรือเงินที่ฝากในบัญชีนั้นถูกควบคุมผ่านธนาคารหมดทั้งสิ้น ยกเว้นเงินสดที่อยู่ในกระเป๋าสตางค์เท่านั้นที่จะอยู่ในการดูแลของเราจริง ๆ ถ้าถามว่า การมาของ DeFi ทำให้ธุรกิจการเงินแบบธนาคารดูแย่ลงไป ดูไม่ทันสมัย ดูเป็นผู้ร้ายที่เอาเปรียบเราหรือไม่ คำตอบคือธนาคารยังคงเป็นตัวกลางที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับเราอยู่ เพราะระบบแบบธนาคารดั้งเดิมนั้นยังมีประโยชน์ต่อการใช้เงินในชีวิตประจำวันของเราทุกคนอยู่

คำถามคือ ถ้าระบบธนาคารแบบดั้งเดิมยังให้ประโยชน์กับการใช้เงินในชีวิตของเราอยู่ แล้วทำไมต้องมีระบบแบบ Decentralized ขึ้นมาด้วย คำตอบคือ Decentralized เป็นระบบที่เกิดจากคนที่เห็นประโยชน์ของ Bitcoin ที่ทำงานบน Blockchain และนำระบบการทำงานของ Bitcoin มาประยุกต์ใช้กับแนวคิดด้านธุรกิจจนเกิดเป็นแพลตฟอร์มมากมายบนโลกของ Blockchain จนในที่สุดก็มีธนาคารแบบไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance) เกิดขึ้น ซึ่งสามารถดึงดูดให้นักลงทุนทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าเข้ามาใช้ ด้วยเหตุผลจากอะไรก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน บางคนเข้ามาเพื่อเก็งกำไร บางคนเข้ามาเพื่อต้องการโอนเงินไปให้กับคนอื่นที่อยู่ต่างประเทศอย่างรวดเร็ว บางคนเข้ามาลงทุนในระยะยาว แต่โดยส่วนมากจะเข้ามาทำกำไรกันเป็นหลัก และที่หลายคนชอบก็คือระบบการเงินที่ทำงานบน Blockchain นั้น ไม่มีใครเข้ามาแทรกแซงได้ ถ้าหากภาครัฐต้องการเข้ามาแทรกแซงก็ทำได้เพียงออกกฎหมายขึ้นมาควบคุมเท่านั้น เหมือนกับที่รัฐบาลของอินเดียและตุรกีออกคำสั่งห้ามทำธุรกรรมใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับ Bitcoin

 

สร้างความเชื่อใจด้วยโค้ด (Smart Contract)

ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสินทรัพย์หรือการเงินนั้น จะต้องมีการทำสัญญาเพื่อเป็นหลักฐานในการทำธุรกรรม ยิ่งเราต้องการทำธุรกรรมที่มีมูลค่ามากเท่าไหร่ ความต้องการความเชื่อใจ หรือเชื่อมั่นในกระบวนการทำสัญญานั้น ๆ ย่อมมีความคาดหวังสูง โดยในโลกของการเงินแบบดั่งเดิมนั้น เราต้องไปทำธุรกรรมทางการเงินที่มีธนาคารเป็นตัวกลางในการอนุมัติการโอนเงินต่าง ๆ และข้อมูลของเราจะถูกบันทึกไว้ในระบบของธนาคาร หากวันหนึ่งธนาคารโดนโจรกรรมแฮ็กข้อมูล หรือข้อมูลทางการเงินที่เก็บไว้ที่ธนาคารนั้นได้หายไป ผลกระทบจะเกิดกับทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้องกับธนาคารนั้น ๆ เมื่อมองเห็นช่องโหว่ของการแฮ็กข้อมูลหรือการโดนโจรกรรมข้อมูล จึงมีคนสร้างสัญญาอัจฉริยะขึ้นมา หรือที่เราเรียกว่า Smart Contract โดย Blockchain เจ้าแรกที่นำมาใช้คือ Ethereum Chain ซึ่งเป็นโปรแกรมที่แพลตฟอร์ม DeFi นิยมใช้กันมาก ๆ เพราะผู้สร้างแพลตฟอร์มสามารถออกแบบเงื่อนไขของธุรกรรมนั้น ๆ ได้ เมื่อมีคนสองคนทำธุรกรรมระหว่างกัน หรือมีคนนำเงินมาเข้าระบบ สัญญาธุรกรรมเหล่านั้นจะถูกให้ดำเนินการตามเงื่อนไขของโปรแกรม Smart Contract ที่ได้ออกแบบไว้แล้ว ซึ่งเป็นการจดบันทึกสัญญาทางการเงินโดยไม่ได้ใช้พนักงานหรือบุคคล แต่จะใช้โปรแกรมเข้ามาจัดการเองแบบไร้ตัวกลาง โดยธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะถูกบันทึกไว้ที่ Blockchain ที่ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงข้อมูลหรือโกงข้อมูลการโอน การฝาก การถอน การปล่อยกู้ ได้ สรุปคือ เรานำความเชื่อใจของคนให้บันทึกในรูปแบบของโค้ดนั่นเอง และโปรแกรม Smart Contract สามารถดำเนินการด้วยตัวเอง ที่ไม่เหมือนกับธนาคารที่ต้องอนุมัติธุรกรรมการเงินให้กับเราด้วยการพิจารณาจากบุคคล

 

มีอิสระในการลงทุนหรือทำธุรกรรม

ในการทำธุรกรรมบางอย่างนั้น จะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลนั้น ๆ ก่อน เพื่อตรวจสอบความสามารถในการบริหารจัดการการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการชำระหนี้ หรือแม้กระทั่งการพิจารณาการกู้เงินออกไปใช้ แต่เชื่อหรือไม่ว่าในโลกของ DeFi นั้น เราสามารถเข้าไปลงทุน ปล่อยกู้สินทรัพย์ดิจิทัล หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยเงินเพียงหลักร้อยก็ทำได้ ซึ่งการเงินบนโลกของ DeFi ค่อนข้างมีอิสระมากกว่าการทำธุรกรรมกับธนาคารแบบดั้งเดิม ซึ่งเราสามารถเปิด Account หรือเปิด Wallet เป็นของตัวเองได้เลยโดยไม่มีใครเข้ามาแทรกแซงหรืออยู่ภายใต้การควบคุมจากสถาบันการเงิน และโดยพื้นฐานของแพลตฟอร์ม DeFi จะทำงานอยู่บนพื้นฐานระบบ Blockchain ซึ่งจะเป็นกลางในการเก็บข้อมูลของทุก ๆ คน

 

ให้ผลตอบแทนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

หลายคนที่มีประสบการณ์บนโลกของ DeFi มักจะรู้กันดีว่าได้ผลตอบแทนค่อนข้างดีกว่าการนำเงินไปฝากที่ธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยต่อปีเพียง 0.5% - 0.75% โดยสาเหตุที่การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาปล่อยกู้ หรือนำมาปล่อยเป็นสภาพคล่อง แล้วได้ผลตอบแทนที่สูงนั้น เป็นเพราะแพลตฟอร์มแบบ Decentralized Finance ถูกออกแบบให้ปันผลกับ User โดยอัตโนมัติแบบไร้คนควบคุมและไร้ตัวกลาง ซึ่งรายได้ที่เก็บจากค่าธรรมเนียมจะถูกนำมากระจายให้กับ User ที่เข้าร่วมกับแพลตฟอร์ม โดยผลตอบแทนที่นำมาปันผลนั้นจะไม่มีตัวกลางเก็บเข้าประเป๋าของตัวเอง ซึ่งจะแตกต่างจากระบบธนาคารที่เป็นธุรกิจประเภทหนึ่งที่ต้องการสร้างรายได้จากการดำเนินงาน ซึ่งดอกเบี้ยที่ธนาคารได้จากการปล่อยกู้ถือว่าเป็นหนึ่งในรายได้หลักของธนาคารเหมือนกัน โดยก่อนที่จะนำดอกเบี้ยมาปันผลให้ผู้ฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารจะเก็บดอกเบี้ยเข้ากระเป๋าของตัวเองก่อนเสมอ ซึ่งจากความแตกต่างตรงนี้ ระบบการสร้างผลตอบแทนแบบ DeFi สามารถดึงดูดผู้คนให้เข้ามาใช้แพลตฟอร์มกันมากขึ้นเพื่อรับผลตอบแทนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย และสร้าง Passive Income ได้

ถ้าถามว่า Decentralized Finance สามารถมาทดแทนระบบธนาคารแบบดั้งเดิมได้หรือไม่ ณ ปัจจุบันนี้ DeFi ถือว่ามีอิทธิพลต่อโลกการเงินมาก ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนส่วนใหญ่ยังพอใจกับการใช้ระบบการเงินแบบธนาคารดั้งเดิมอยู่ แต่เชื่อว่าในอนาคตธนาคารจะต้องปรับตัวหันมาใช้เทคโนโลยี Blockchain กันมากขึ้น เพื่อรองรับธุรกรรมบนโลกดิจิทัลที่มากขึ้นและตอบสนองต่อพฤติกรรมการใช้เงินของผู้คนในยุคดิจิทัล สรุปคือ ผู้คนบนโลกนี้สามารถกำหนดทิศทางของโลกการเงินได้ ว่าเราต้องการระบบแบบ Decentralized หรือ Centralized

ถ้าคุณเป็นคนที่สนใจเรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เรามาดูกันว่า ทักษะเทคโนโลยีและไอที ที่ตลาดดิจิทัลต้องการมากที่สุดในยุคเทคโนโลยีครองโลก จะมีทักษะอะไรบ้าง เผื่อคุณจะได้ค้นพบทักษะที่ตัวเองชอบ และก่อนที่คุณจะเข้าสู่โลกของ DeFi ต้องทำความเข้าใจ เทคโนโลยี Blockchain 

Ourgreenfish LINE Connect

ติดตามสาระความรู้เกี่ยวกับ
Digital Marketing และเทคโนโลยีได้ที่ Ourgreenfish Connect

 

Recent Posts