เมื่อธุรกิจในปัจจุบันต่างก็แข่งขันกันอย่างดุเดือดในการมองหากลยุทธ์ที่จะช่วยเพิ่มรายได้กับธุรกิจ ดึงดูดลูกค้าใหม่ และรักษาฐานลูกค้าเดิมด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เพื่อให้กลับมาซื้อสินค้าหรือบริการซ้ำเรื่อย ๆ จนกลายเป็นลูกค้าที่ความภักดีกับแบรนด์ และพร้อมบอกต่อแบรนด์ไปยังคนอื่น ๆ และหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายธุรกิจชอบนำมาใช้ ก็คือ Loyalty Program นั่นเอง
จากข้อมูลของ Accessdevelopment พบว่า 90% ของธุรกิจการปรับปรุงพัฒนา หรือการขยาย Loyalty Program เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในปี 2021 และจากการศึกษาของ Claus Commerce พบว่า 90% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกร้านค้าปลีกที่เป็นสมาชิกระดับพรีเมียมมากกว่าร้านอื่น ๆ ที่เสนอราคาต่ำกว่า
นอกจากนี้ ผลสำรวจของ Yotpo เปิดเผยว่า ผู้คนจะไปได้ไกลกับแบรนด์ที่พวกเขารัก โดยเกือบ 68% ของผู้ตอบแบบสอบถาม บอกว่า พวกเขาจะเข้าร่วม Loyalty Program ของแบรนด์ที่พวกเขาชื่นชอบ ในขณะที่ 56% ยินดีที่จะใช้จ่ายกับแบรนด์มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีตัวเลือกที่ถูกกว่าก็ตาม
โดยการทำ Loyalty Program นั้น หมายความว่า คุณจำเป็นต้องมอบอะไรบางอย่างให้กับลูกค้า เช่น ส่วนลด, การลดราคา, การเข้าถึงการขายสินค้า หรือบริการต่าง ๆ ล่วงหน้า แต่ผลตอบแทนจากการทำ Loyalty Program นั้น จะได้รับกลับมามากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การแนะนำต่อจากลูกค้าที่มากขึ้น, การรักษาลูกค้าไว้ได้นานขึ้น, ยอดขายเพิ่มขึ้น, การสนับสนุนแบรนด์ โดยจากรายงานวิจัยเกี่ยวกับ Loyalty พบว่า 49% ของผู้บริโภคยอมรับว่า ใช้จ่ายกับแบรนด์มากขึ้นหลังจากการเข้าร่วม Loyalty Program
หากพูดถึงประเภทของ Loyalty Program หรือ Reward Program นั้น ก็มีรูปแบบที่หลากหลายแตกต่างกันไป ลองมาดูตัวอย่างกันว่า Loyalty แบบไหนที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณ
- การสะสมคะแนน (Point-Based Loyalty)
การให้ลูกค้าสะสมคะแนน เพื่อแลกสิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น ของรางวัลหรือรับเงินคืน (Cashback) เป็นต้น โดยกลยุทธ์การสะสมคะแนนนั้น เป็นที่นิยมอย่างมาก และสามารถนำไปใช้ได้กับธุรกิจหลายประเภท ซึ่งการรับคะแนนไม่จำเป็นต้องมาจากการสั่งซื้อเท่านั้น อาจจะมาจากการทำกิจกรรม หรือการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ เช่น การแชร์โพสต์บางอย่างผ่านโซเชียล มีเดีย, การเขียนรีวิวสินค้า หรือบริการ, การเล่นเกม, วันเกิด เป็นต้น
ยกตัวอย่าง Beauty Pass ของ Sephora ซึ่งเป็นบัตรสมาชิกในการสะสมคะแนนเพื่อแลกรับของขวัญ หรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ โดยช่องทางการในการสะสมคะแนนนั้น มีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การใช้จ่ายกับแบรนด์ โดยทุก ๆ 25 บาท รับ 1 คะแนน, เขียนรีวิวผลิตภัณฑ์ เมื่อซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ รับ 5 คะแนนต่อ 1 รีวิว, ดาวน์โหลด และลงทะเบียนผ่าน Sephora Mobile App รับ 40 คะแนน, ช้อปสินค้าในเดือนเกิด รับคะแนนเพิ่ม 2 เท่าต่อ 1 ใบเสร็จ เป็นต้น
- การแบ่ง Tier หรือระดับขั้น (Tiered Loyalty)
การแบ่งลูกค้าสมาชิกตาม Tier หรือระดับขั้นที่กำหนดไว้ ลูกค้าจะได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างกันไปตาม Tier ของตนเอง ซึ่งธุรกิจมักจะจัด Tier ของสมาชิกออกเป็นกลุ่มตามตัวชี้วัดบางอย่าง เช่น ยอดขาย หรือการมีส่วนร่วม โดยโปรแกรมในลักษณะนี้จะทำให้ลูกค้ามีเป้าหมาย ยิ่งระดับ Tier สูงขึ้น ก็ยิ่งได้รับรางวัลที่เอ็กซ์คลูซีฟและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่าง Shopee ที่มี Shopee Rewards ซึ่งเป็นระบบสะสมคะแนน เพื่อรับสิทธิประโยชน์ตามระดับของผู้ใช้ โดยกำหนดระดับสมาชิกจากจำนวนสั่งซื้อ และยอดสั่งซื้อของผู้ใช้ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ Classic, Silver, Gold และ Platinum
สำหรับสิทธิพิเศษของแต่ละระดับของผู้ใช้งาน ก็จะแตกต่างกันออกไป เช่น โค้ดส่งฟรีประจำเดือน สำหรับสินค้าขั้นต่ำ 99 บาท หากเป็นสมาชิกระดับ Classic จะได้รับ 1 สิทธิ์ ในขณะที่ สมาชิกระดับ Platinum จะได้รับ 3 สิทธิ์ - การจ่ายเงินค่าสมาชิก (Paid Loyalty)
การให้สิทธิประโยชน์กับลูกค้าอย่างทันทีและต่อเนื่อง เมื่อลูกค้าชำระเงินเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยค่าธรรมเนียมการสมัครนี้จะเป็นการเรียกเก็บซ้ำตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น ปีละ 1 ครั้ง หรือเรียกเก็บเพียงแค่ครั้งเดียวตอนทำการสมัครก็ได้
ยกตัวอย่าง Amazon Prime ของ Amazon บริการสมัครสมาชิกแบบชำระเงิน เพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เหนือกว่า โดยคิดค่าบริการเดือนละ 12.99 ดอลลาร์ ซึ่งสมาชิกจะได้รับสิทธิพิเศษมากมาย เช่น การจัดส่งฟรี และรวดเร็ว, ข้อเสนอ และส่วนลดแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ฯลฯ
จากรายงานของ McKinSey แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภค 62% มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้ากับแบรนด์มากขึ้น หลังจากที่เข้าร่วมโปรแกรมนี้
โดย McKinsey ได้ระบุถึง 3 องค์ประกอบของ Paid Loyalty Program ที่ประสบความสำเร็จนั้น มีเหมือนกัน ดังนี้
1. สิทธิประโยชน์มีค่ามากกว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการสมัครเข้าร่วมโปรแกรม
2. สมาชิกจะอยู่กับแบรนด์ที่มีข้อได้เปรียบในด้านประสบการณ์ที่มากกว่า เช่น ประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคล (Personalized Experience) และคอนเทนต์เฉพาะสำหรับสมาชิกเท่านั้น
3. การมีส่วนร่วมจะอยู่ในระดับสูง ซึ่งโปรแกรมที่ดีจะมี Flywheel ของการสร้างปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าของโปรแกรม - การสร้างคุณค่า (Value Loyalty)
แนวคิดของ Loyalty Program แบบการสร้างคุณค่า คือ การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระดับที่มีความลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการบริจาคเพื่อการกุศล เช่น บริจาคแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย โดยคุณสามารถนำเสนอทางเลือกต่าง ๆ ในการทำการกุศล หรืออาจเลือกให้สอดคล้องไปกับ Value ของลูกค้าอย่างแท้จริงก็ได้
โดยโปรแกรมนี้อาจจะไม่ได้ให้ Reward กับลูกค้าก็จริง แต่มันก็สร้างความรู้สึกพิเศษให้กับลูกค้า เพราะ Reward ของพวกเขาได้ถูกนำไปสร้างประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งก็มีหลาย ๆ แบรนด์ที่ใช้โปรแกรมประเภทนี้
ยกตัวอย่าง Grab ที่มี GrabRewards เป็นการสะสมคะแนน เพื่อแลกรับของรางวัล และดีลสุดพิเศษมากมาย และที่สำคัญยังมีการนำเสนอ Donations โดยให้ลูกค้าสามารถแลกคะแนนสะสมของตนเอง เพื่อสมทบทุนการบริจาคให้กับชุมชน อย่างโครงการ “กล่องอิ่มสู้” ที่บริจาคอาหารมื้ออิ่มให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 หรือบริจาคให้กับมูลนิธิ และโรงพยาบาลต่าง ๆ เช่น มูลนิธิรามาธิบดี, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฯลฯ
หากยังไม่แน่ใจว่าควรจะทำ Loyalty Program แบบไหนดี คุณสามารถใช้แบบสอบถาม หรือโพลสำรวจ เพื่อหาข้อมูลกับฐานลูกค้าของคุณได้ และสร้างโปรแกรมในแบบที่ลูกค้าของคุณต้องการจริง ๆ
เราลองมาดูตัวอย่างที่ดีของ Customer Loyalty Program ที่ทาง Shopify ได้เลือกมากันดีกว่า ว่าเป็นแบบไหน และมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง
1. DSW
Designer Shoe Warehouse หรือ DSW มี VIP Loyalty Program แบบเดิม ๆ มาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นการให้คะแนนสำหรับการสั่งซื้อแต่ละครั้ง รวมไปถึงแบ่ง Tier ในการให้ Reward ที่ลูกค้าสามารถปลดล็อกแต่ละ Tier ได้เมื่อทำการสั่งซื้อมากขึ้น
ลูกค้าของ DSW จะไม่มีบัตรสมาชิกที่ต้องจำเลขรหัส เนื่องจากระบบออนไลน์ของ DSW จะจดจำลูกค้าด้วยชื่อ, เบอร์โทรศัพท์ หรือข้อมูลการชำระเงิน ซึ่งความอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ เมื่อการได้รับรีวอร์ดกลายเป็นระบบอัตโนมัติ ลูกค้าก็จะลืมหรือไม่ได้สนใจโปรแกรมนี้ และทำให้ไม่ถูกกระตุ้นให้มาซื้อเพิ่มเพื่อรับรีวอร์ดมากขึ้น ดังนั้น DSW จึงต้องการวิธีที่จะทำให้ลูกค้ามีส่วนร่วมกับโปรแกรม และคอยเตือนว่าลูกค้านั้นอยู่ตรงจุดไหน และจะได้รับรีวอร์ดอะไรจากการซื้อกับร้านมากขึ้น
ในช่วงต้นปี 2017 DSW ได้ปล่อยแคมเปญอีเมลที่มีเป้าหมาย เพื่อเตือนลูกค้าเกี่ยวกับโปรแกรมนี้ โดยเป็นอีเมลแบบ Personalization ที่มีรายละเอียด ดังนี้
- จำนวนคะแนนที่ลูกค้าต้องใช้เพื่อแลกรับส่วนลด 10 ดอลลาร์ ในการสั่งซื้อครั้งต่อไป
- ดีลที่ลูกค้ามีสิทธิ์ได้รับในปัจจุบัน
- ภาพรวมของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ รวมถึงระยะเวลาที่พวกเขาเป็นลูกค้าสมาชิกที่มีความภักดี, จำนวนคะแนนที่ได้รับ และจำนวนเงินที่พวกเขาประหยัดไปได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
และสิ่งที่ทำให้แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จ ก็คือ ระดับของการทำ Personalization นั่นเอง โดย Loyalty Program ของ DSW ทำให้แบรนด์เข้าถึงข้อมูลของลูกค้าเป็นจำนวนมาก และ DSW ได้ใช้ข้อมูลเหล่านี้อย่างเป็นประโยชน์ ซึ่งใช้ร่วมกับระบบอีเมลอัตโนมัติที่เชื่อถือได้ เพื่อสร้างอีเมลที่เป็นแบบ Hyper-personalization ซึ่งแตกต่างจากอีเมลการตลาดทั่วไปที่มักจะค้างอยู่ใน Inbox ของลูกค้า
2. Sephora Beauty Insider
Beauty Insider ของ Sephora นั้น ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยมีลูกค้าสมาชิกมากกว่า 25 ล้านคน ซึ่งทำยอดขายได้มากถึง 80% ของยอดขายประจำปีของ Sephora โดยสมาชิกจะได้รับรีวอร์ด สำหรับการซื้อแต่ละครั้งตามระบบของการให้คะแนนปกติ แต่มีส่วนที่คิดสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ นั่นก็คือ สมาชิกสามารถเลือกวิธีการใช้คะแนนสะสมของตนเองได้
หนึ่งในอุปสรรคใหญ่ที่สุดของลูกค้า Sephora จำนวนมาก คือ ราคาของผลิตภัณฑ์ Sephora ซึ่งสมาชิกของ Beauty Insider สามารถแลกคะแนนเพื่อรับ Gift Card และส่วนลดในการซื้อ โดยไม่ลดมูลค่าของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ สมาชิกยังสามารถแลกคะแนนเพื่อรับของเอ็กซ์คลูซีฟ เช่น ผลิตภัณฑ์ Limited Edition ได้อีกด้วย การให้ลูกค้าสมาชิกมีทางเลือกที่หลากหลาย ทำให้ Sephora สามารถเสนอดีลและผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาต้องการได้เรื่อย ๆ
3. Starbucks Rewards
ในปัจจุบัน เป็นเรื่องปกติไปแล้วที่ร้านค้าทั่วไปจะสร้างแอปพลิเคชันในมือถือ เพื่อบริหารจัดการ Loyalty Program โดย Starbucks ได้เปิดตัว Starbucks Rewards ผ่านแอปฯของ Starbucks ถือเป็นไอเดียใหม่เลยทีเดียว เพราะการใช้ Loyalty Program ผ่านแอปฯ นั้น ทำให้ลูกค้าใช้งานง่ายไม่ต้องพกบัตรสมาชิกให้ยุ่งยาก
ในการรับคะแนนสะสม (หรือดาว ในเคสของ Starbucks) ลูกค้าจะต้องสั่งซื้อ หรือจ่ายเงินผ่านทางแอปฯ ซึ่งการรวมข้อมูลการสั่งซื้อของลูกค้าไว้เป็นศูนย์กลางแบบนี้ นับเป็นการรวมข้อมูลของลูกค้า ทั้งในเรื่องของความชอบและพฤติกรรมของลูกค้าที่มีคุณค่ามาก ๆ
Starbucks สามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมต่าง ๆ ของลูกค้าได้ ไม่ว่าจะเป็น เมนูเครื่องดื่มที่สั่งบ่อย, มูลค่าตลอดเวลาที่อยู่กับแบรนด์ของลูกค้า (CLV), สาขาที่ไปบ่อย, รายการโปรดตามฤดูกาล ฯลฯ ด้วยการให้ลูกค้าเข้าไปใช้งานผ่านแอปฯ ทำให้แบรนด์สามารถมอบสิทธิพิเศษที่ตรงกับความต้องการ และสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
หากคุณสามารถทำแอปฯ สำหรับร้านของคุณได้ ก็จะเป็นวิธีที่ดีในการเก็บ และรวบรวมข้อมูลของลูกค้าไว้เป็นศูนย์กลาง หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือ ระบบ POS (Point of Sales System) ก็สามารถช่วยคุณในการเก็บรวบรวมข้อมูลของลูกค้าได้เหมือนกัน
4. Amazon Prime
จากที่พูดถึง Amazon Prime ของ Amazon ไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นโปรแกรมบริการสมัครสมาชิกแบบชำระเงินที่มอบสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับสมาชิก เช่น สิทธิ์ในการส่งของภายใน 2 วัน แบบไม่จำกัด รวมไปถึงสิทธิพิเศษอื่น ๆ เช่น บริการ Streaming ของ Amazon และ Prime Day Sales
โดย Amazon ต้องรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงจากร้านค้าอื่น ๆ เช่น Walmart คุณสามารถหาสินค้าส่วนใหญ่ใน Amazon จากที่อื่นได้เหมือนกัน ซึ่ง Prime เป็นวิธีที่สร้างความแตกต่าง และชักจูงให้ลูกค้าซื้อสินค้าผ่าน Amazon แบบเอ็กซ์คลูซีฟ ซึ่งได้ผลจริง ๆ เพราะสมาชิกของ Prime สั่งซื้อมากกว่าลูกค้าทั่วไป ของ Amazon โดยเฉลี่ยถึง 4 เท่า
สำหรับร้านค้าในอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกัน และสินค้ากับราคาของคู่แข่งมีความคล้ายกันนั้น Loyalty Program ของคุณอาจสร้างความแตกต่าง และมีความได้เปรียบทางการแข่งขันได้
ลองดูอย่างร้านค้า COSTCO WHOLESALE ที่มีการนำเสนอ Value เพิ่มนอกเหนือจากสินค้าและบริการ ด้วยการเก็บเงินค่าสมาชิกรายปี เพื่อแลกกับสิทธิพิเศษที่มากกว่า เช่น ส่วนลดพิเศษ, การ์ดสมาชิก 2 ใบ สำหรับคุณ และสมาชิกในบ้านของคุณอีก 1 คน ฯลฯ ซึ่งการที่ต้องจ่ายค่าสมาชิกเงินรายปีกับแบรนด์นั้นจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคทำการสั่งซื้อให้คุ้มค่า ด้วยการซื้อกับคุณมากยิ่งขึ้น
5. The North Face
The North Face ร้านขายเสื้อผ้า และอุปกรณ์ Outdoor นั้น สร้างแรงจูงใจให้กับสมาชิกในการรับรีวอร์ดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยนำเสนอวิธีการแลกรับรีวอร์ดต่าง ๆ ที่หลากหลาย ให้ลูกค้าได้เลือกตามไลฟ์สไตล์ของตนเอง ซึ่ง Loyalty Program ของ The North Face นี้ มีชื่อว่า XPLR Pass
โดยสมาชิกจะได้รับคะแนนสะสมจากทุกการทำรายการสั่งซื้อ นอกจากนี้ยังมีวิธีการในการรับคะแนนอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การบอกต่อเพื่อนของคุณ, การพก Reusable bag ของตนเอง เมื่อมาช้อปที่ร้าน, การเช็ก
อินที่ร้านผ่านแอปฯ ของแบรนด์ ฯลฯ โดยลูกค้าสามารถใช้คะแนนสะสมเหล่านี้ แลกรับสิทธิประโยชน์เจ๋ง ๆ ได้ เช่น ประสบการณ์การท่องเที่ยวที่พิเศษอย่างกิจกรรมแอดเวนเจอร์ปีนเขาในเนปาล, สิทธิพิเศษในการเข้าถึงคอลเลคชันที่เป็น Limited Edition หรือ Collaboration ได้ก่อนใคร, การทดลองใช้สินค้าที่ยังไม่ได้มีการเปิดตัว ฯลฯ ซึ่งรีวอร์ดเหล่านี้ของแบรนด์ ไม่ได้แค่ให้ส่วนลดเพื่อกระตุ้นสมาชิกให้ทำการสั่งซื้อสินค้ามากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ตรงใจกับกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการใช้ประสบการณ์ที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ทางด้านอารมณ์ระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์ให้แข็งแกร่ง
6. REI Co-op
ผู้บริโภคอาจจะไม่ค่อยเชื่อในการทำการตลาดเริ่มแรกของแบรนด์มากนัก เพราะรู้อยู่แล้วว่า จุดประสงค์ของแบรนด์ ก็คือ โน้มน้าวใจเพื่อให้ซื้อสินค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่า Loyalty Program ที่สร้างสรรค์จะไม่โฟกัสว่าทำอย่างไรให้ลูกค้าใช้จ่ายมากขึ้น แต่จะเน้นไปที่การสร้างคุณค่าให้พวกเขาแทน
โปรแกรมของ REI พาลูกค้ากลับไปสู่จุดเริ่มต้นแรกของแบรนด์ในรูปแบบของสหกรณ์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ลูกค้าเป็นเจ้าของร่วมกัน และมีการจ่ายเงินปันผลประจำปีให้กับลูกค้าสมาชิก (ตามเงื่อนไขที่กำหนด) โดยการชำระเงินค่าสมัครสมาชิก 20 ดอลลาร์ คุณก็สามารถเป็นสมาชิก REI Co-op ได้ตลอดชีวิต และจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น เงินคืน 10% สำหรับการสั่งซื้อทั้งหมด, ส่วนลดทันที สำหรับการขายสินค้ามือ 2 และส่วนลดสำหรับประสบการณ์ต่าง ๆ เช่น คลาสเรียน Adventure
7. Apple
ในบางครั้ง Loyalty Program ที่สร้างสรรค์ที่สุด ก็อาจจะไม่ใช่ Loyalty Program เลย ไม่ใช่ทุกร้านที่จะสามารถสร้างฐานลูกค้าที่มีความภักดี และมีความทุ่มเทให้กับแบรนด์ได้เหมือนกับที่ Apple ทำ ซึ่ง Apple นั้น ไม่ต้องให้ Reward หรือมีสิ่งกระตุ้นใด ๆ ให้กับลูกค้าเลย แต่ก็อาจจะมีบางร้านที่ขายสินค้าที่เอกลักษณ์เฉพาะตัวจริง ๆ ที่สามารถทำได้
ในการดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ ด้วยตัวสินค้าของคุณเอง, สร้างสรรค์ประสบการณ์ของลูกค้าที่เจ๋ง ๆ
และนำเสนอสิทธิประโยชน์เหล่านั้นในทุกการสั่งซื้อ อาจทำให้คุณสามารถตัดความจำเป็นที่ต้องมี Loyalty Program แบบเดิม ๆ ออกได้
ในท้ายที่สุดแล้ว ทุกธุรกิจก็ต่างแข่งขันกันเพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้า โดยแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกขอบคุณและมอบประสบการณ์ที่มีคุณค่าให้กับลูกค้าของตนเอง ผ่านการทำ Loyalty Program ถึงแม้ว่าแบรนด์ของคุณอาจจะเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่ อย่างแบรนด์ที่ยกตัวอย่างมา แต่คุณก็สามารถสร้างสรรค์ Loyalty Program ที่ไม่ต้องลงทุนสูงมากได้ แต่ต้องมุ่งเน้นไปที่ความต้องการของลูกค้าเป็นหลักก่อน เพราะ Loyalty Program จะไม่มีประสิทธิภาพเลย หากไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
Source : Shopify
บทความที่เป็นประโยชน์สำหรับคุณ
CUSTOMER RETENTION (การรักษาลูกค้า) : 6 กลยุทธ์ในการสร้างธุรกิจของคุณให้เติบโตด้วยลูกค้าเก่า
No Comments